(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ก.พ.55 CPI เพิ่มขึ้น 3.35% ส่วน Core CPI เพิ่มขึ้น 2.72%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 1, 2012 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน ก.พ.55 อยู่ที่ 113.63 เพิ่มขึ้น 3.35% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.37% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.55 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.พ.55) เพิ่มขึ้น 3.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

"อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นว่าการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังเกิดภาวะวิกฤตอุทกภัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี" นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.นี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่ในทิศทางชะลอตัวลง เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนราคาสินค้าและค่าขนส่ง โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.มาจากการปรับตัวสูงขึ้นจากดัชนีสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 7.18% ได้แก่ ข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น 2.78% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำสูงขึ้น 7.19% ไข่และผลิตภัณฑ์นมสวูงขึ้น 2.69% ผักและผลไม้สูงขึ้น 6.43%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือน ก.พ.55 อยู่ที่ 107.38 เพิ่มขึ้น 2.72% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.11% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.55 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ก.พ.55 อยู่ที่ 135.68 เพิ่มขึ้น 7.18% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.15% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.55

ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ก.พ.55 อยู่ที่ 100.87 เพิ่มขึ้น 1.01% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.53% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.55

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้จะอยู่ในกรอบระหว่าง 3.65-3.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐาน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 95-115 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29.33 บาท/ดอลลาร์ และรัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป

ขณะเดียวกันมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก, ภัยธรรมชาติ, ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลประกาศให้มีการจัดเก็บเงินจากการขายปลีกราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ากองทุนน้ำมันฯ ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยมาก หรือเพียง 0.112% เท่านั้น ขณะที่การปรับขึ้นราคา LPG มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.0018% ส่วนการปรับขึ้นราคา NGV ไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อเลย

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน และการปรับฐานเงินเดือนระดับปริญญาตรีไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเช่นกัน สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเชื่อว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นไปมากนัก เพราะภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐและสหภาพยุโรปยังอยู่ในช่วงชะลอตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ