นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนก.พ.55 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 24.2 เป็น 25.8 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 14.6 เป็น 15.7 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต(3 เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 30.6 เป็น 32.6
ทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังเกิดภาวะวิกฤติอุทกภัย และการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพื่อเยียวยาผู้ประสบภัยที่เม็ดเงินเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายดูแลราคาสินค้าเกษตรของกระทรวงพาณิชย์ เช่น โครงการรับจำนำข้าวและมันสำปะหลัง เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้ประชาชนมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย รวมทั้งปัจจัยลบ ด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและภัยธรรมชาติ
ส่วนค่าดัชนีในด้านต่างๆ พบว่า ผู้บริโภคมีความคาดหวังต่อรายได้ในอนาคตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในเดือนม.ค.55 และการปรับขึ้นค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่จะมีผลในวันที่ 1 เม.ย.55 อีกทั้งมาตรการของภาครัฐที่เข้ามาดูแลราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ทั้งนี้โอกาสในการหางานทำในปัจจุบันและอนาคตยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งประชาชนยังมีความกังวลและไม่มั่นใจเศรษฐกิจภายในประเทศ
ส่วนความเชื่อมั่นในด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันและอนาคต ยังอยู่ในระดับสูงเนื่องจากประชาชนยังมีความต้องการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่เป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี การวางแผนซื้อรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจในการซื้อสินค้าคงทนถาวร เพราะยังเป็นกังวลกับเรื่องปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ