(เพิ่มเติม1) ครม.ไฟเขียวหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองของกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 6, 2012 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองของกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติที่จะมีต่อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ ซึ่งกรมธรรม์ดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติรุนแรงตามเงื่อนไขของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)

สำหรับภาคครัวเรือนกองทุนส่งเสริมฯ จะให้ความคุ้มครองจำนวน 1 แสนบาทต่อราย คิดเบี้ยประกัน 0.5% แต่หากเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)จะให้ความคุ้มครอง 30% ของทุนประกัน คิดเบี้ยประกัน 1% ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมจะให้ความคุ้มครอง 30% ของกองทุนประกัน คิดเบี้ยประกัน 1.25%

เลขาธิการ คปภ.คาดว่า จะสามารถเปิดขายกรมธรรม์ดังกล่าวได้ใน 10 วันข้างหน้า หรือราวกลางเดือน มี.ค.55 โดยสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามความตกลงร่วมกันระหว่างกองทุนส่งเสริมฯ กับบริษัทประกันภัยทั้ง 67 ราย ซึ่งกองทุนส่งเสริมฯ มีความพร้อมที่จะดำเนินการดังกล่าว

เงื่อนไขการจ่ายเงินสินไหมทดแทนนั้น บริษัทประกันภัยจะสำรวจและประเมินความเสียหายโดยจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติในทุกกรณี ยกเว้นกรณีอุทกภัยในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย เนื่องจากมีผู้เอาประกันภัยจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ จะพิจารณาที่ระดับน้ำเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยหากน้ำท่วมพื้นที่อาคาร จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ 30,000 บาท แต่หากระดับน้ำท่วมสูง 50 ซม.จ่ายเงินสินไหมชดเชย 5 หมื่นบาท, น้ำท่วมสูง 75 ซม.จ่ายเงินสินไหมทดแทน 7.5 หมื่นบาท, น้ำท่วมสูง 1 เมตร จ่ายเงินสินไหมทดแทน 1 แสนบาท

ก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติจัดตั้งกองทุนประกันภัยในวงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะให้ความคุ้มครองความความเสี่ยงภัยใน 3 ภัยได้แก่ น้ำท่วม, ลมพายุ และแผ่นดินไหว โดยจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยที่เข้าลักษณะภัยพิบัติดังนี้

1. คณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรงตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เช่นเดียวกับกรณีการให้เงินช่วยเหลือพิเศษ 5,000 บาท/ครัวเรือน ในเหตุอุทกภัยปี 54 หรือ

2. จำนวนค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป หรือ

3. กรณีแผ่นดินไหวนั้น ความรุนแรงต้องตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือกรณีลมพายุ ความเร็วลมจะต้องเกิน 120 กม./ชม.ขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ดี กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติมีวงเงินในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่ 50,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการเพื่อรองรับความเสียหายสูงสุดที่ 3 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการความต้องการเอาประกันภัยพิบัติ หรือวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติที่ 2.59 ล้านล้านบาท ถือว่ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสม

แต่หากเกิดภัยพิบัติที่ไม่คาดคิด ทำให้ความเสียหายสูงกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเกินกว่าความสามารถของกองทุนฯ ในการบริหารจัดการ ความเสียหายในส่วนนี้รัฐบาลจะเข้ามาดูแลรับผิดชอบ โดยคาดว่ารัฐบาลจะมีความเสี่ยงสูงสุดที่ 2.29 ล้านล้านบาท

ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้ประชุมหารืออย่างต่อเนื่องรวมทั้งหมด 5 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2555 เพื่อเร่งพิจารณาแนวทางการรับประกันภัยพิบัติที่เหมาะสมและสามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุด

ทั้งนี้ คาดว่าแนวทางการรับประกันภัยพิบัติที่คณะกรรมการฯ ได้นำเสนอและคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้วนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทุกภาคส่วน ได้แก่ บ้านอยู่อาศัย SMEs และอุตสาหกรรมในการเข้าถึงและใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศอันเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่นอกจากจะมีนโยบายการจัดการและบริหารน้ำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วการประกันภัยพิบัตินี้ก็จะช่วยเติมเต็มการจัดการความเสี่ยงภัยให้ครบถ้วนสมบูรณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ