บริษัทชั้นนำญี่ปุ่นยันเดินหน้าลงทุนในไทยหลังมั่นใจแผนบริหารจัดการน้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 9, 2012 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้บริหารบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำของญี่ปุ่น 10 รายยืนยันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนในประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่าแสนล้านบาท หลังรับฟังการชี้แจงทำความเข้าใจแล้วเกิดความมั่นใจต่อแผนบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนการลงทุนทางด้านภาษี และแนวทางกำจัดอุปสรรคในการดำเนินงานของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเสียใจต่อบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมบางกะดี และเขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี พร้อมกับให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลไทยออกมาตรการหลายประการเพื่อป้องกันน้ำท่วมโดยทุกภาคส่วนของประเทศไทยให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อให้การดำเนินการป้องกันเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการป้องกันน้ำท่วมทั้งหมดมีมูลค่าสูงถึง 350,000 ล้านบาท จะมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงถึงจุดแข็งของไทยในการเป็นฐานการลงทุนด้วยสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่ดีมาก ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เช่น ประเทศไทยมี Supply chain ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเป็นเวลานาน และสามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น่าเสียดายที่เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้น แต่ขอให้พิจารณาในระยะยาวถึงความได้เปรียบของไทยที่จะเป็น Hub ของกลุ่มอาเซียน และโอกาสของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียนยังมีอีกมาก รวมทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและการคมนาคมเชื่อมโยงในภูมิภาคที่จะสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพให้แก่นักลงทุนและภูมิภาค

ในส่วนของการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุน ปัจจุบันรัฐบาลออกมาตรการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 และเป็น 20% ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีเงินทุนสำหรับขยายกิจการเพิ่มเติมได้อีก นอกจากนี้บีโอไอได้ออกมาตรการช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลายประการ เช่น มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่โครงการของบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมรวมถึงการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงสายการผลิตดังกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีนโยบายต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศตลอดมา แม้ว่ารัฐบาลอาจมีการเปลี่ยนแปลงแต่นโยบายส่งเสริมการลงทุนไม่เคยเปลี่ยน ขอให้ความมั่นใจอีกครั้งต่อความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคมไทยที่จะป้องกันภัยพิบัติและเสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนของประเทศไทย

ขณะที่ผู้บริหารบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำของญี่ปุ่น 10 รายต่างแสดงความชื่นชมการแก้ปัญหาอุทกภัยและการช่วยเหลือประชาชน และพอใจกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งการบริหารจัดการน้ำที่มั่นใจได้ว่าจะไม่ประสบกับปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทเข่นเมื่อปีที่ผ่านมาอีก รวมทั้งมาตรการการส่งเสริมการลงทุน ทั้งมาตรการทางภาษี และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐบาลแสดงความกระตือรือล้นในการสนับสนุนและพร้อมที่จะแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยบริษัทฯต่างๆ แสดงความเชื่อมั่นยืนหยัดการลงทุนในประเทศไทย และเร่งเดินหน้าการขยายการลงทุนตามแผนการลงทุนต่อไป เพราะไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการลงทุนในภูมิภาค

สำหรับผู้บริหารบริษัทอุตสาหกรรมชั้นนำของญี่ปุ่นได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ณ โรงแรม Imperial ประกอบด้วย Toshiba, Honda, Toyota, Nissan Motors, Mitsubishi Motors Corporation, Isuzu Motors, Suzuki Motor Corporation, Bridgestone Corporation, บริษัท Marubeni และบริษัท Mitzui ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทผลิตรถยนต์ตามโครงการ ECO-CAR จำนวน 5 ราย ได้แก่ นิสสัน ฮอนด้า ซูซูกิ โตโยต้า และมิตซูบิชิ ที่มีแผนการขยายการลงทุนผลิต รวมทั้งแผนการขยายการผลิตรถยนต์ เช่น รถตู้ เป็นต้น, บริษัท Isuzu Motors มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับรถบรรทุก(ปิกอัพ)อีก 100,000 คันรวมกับของเดิมเป็น 400,000 คัน,

บริษัท บริษัท Bridgestone มีแผนการลงทุนผลิตยางรถบรรทุกขนาดใหญ่มูลค่าเงินลงทุน 20,000 ล้านบาท, บริษัท Marubeni ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 4 บริษัท รวม 7 โครงการ มูลค่ารวม 9,515.3 ล้านบาท และสนใจที่จะลงทุนด้าน Mega projects เช่น พลังงานไฟฟ้า สาธารณูปโภค และเคมีภัณฑ์, บริษัท Toshiba ที่มีมูลค่าโครงการทั้งหมดที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 30,100 ล้านบาท(รวม 28 โครงการ) และมีแผนการลงทุนผลิต Semiconductor และบริษัท MItzui มีการลงทุนในหลายสาขา ทั้งพลังงาน ระบบสาธารณูปโภค และโลจิสติกส์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ