นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เตรียมเรียกประชุมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอีแบงก์), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์), บรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และ ธ.ก.ส. หารือเรื่องโครงการพักชำระหนี้สำหรับลูกค้าที่มีหนี้คงค้างไม่เกิน 5 แสนบาทผ่านสถานบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 6 แห่ง ในวันที่ 11 มี.ค.นี้
ในส่วนของ ธ.ก.ส.เตรียมเสนอ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก ธ.ก.ส.จะไม่นำส่งเงิน 0.47% ของฐานเงินฝากเข้าสมทบกองทุนพัฒนาประเทศ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผลประกอบการของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกค้าเหลือ 2% ต่อปี และเป็นวิธีที่ลูกค้าเลือกใช้แทนการพักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี เพราะลูกค้าจะไม่สามารถดำเนินการขอกู้ต่อได้ โดยแนวทางนี้จะทำให้รายได้หายไปราว 8 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้ราวปีละ 8 แสนล้านบาท
แนวทางที่สอง ธ.ก.ส.จะขอเพิ่มทุนอีก 1 หมื่นล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี จากปัจจุบันที่มีเงินทุนราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นการทยอยเพิ่มทุนปีละ 2 พันล้านบาท นับตั้งแต่ปี 56 เพื่อนำมาใช้ในการขยายสินเชื่อภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มสัดส่วนจาก 25% เป็น 30% และโครงการพักชำระหนี้ที่ผ่านมามีลูกค้าเข้าร่วมแล้ว 639,589 ราย คิดเป็น 82.52% ของลูกค้าทั้งหมดที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 775,090 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 90,502 ล้านบาท
และแนวทางที่สาม ธ.ก.ส.จะขออนุมัติขยายสัดส่วนสินเชื่อนอกภาคการเกษตรจากเดิม 20% เพิ่มเป็น 25-30%