"โฆสิต"เตือนธุรกิจไทยหาช่องลงทุน ตปท.มองปัญหาขาดแรงงานรุนแรงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 9, 2012 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวบรรยายเรื่อง"เศรษฐกิจไทยในบริบทอาเซียน"ว่า นักธุรกิจไทยควรจะมองหาโอกาสการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AEC)ในปี 58 เนื่องจากมองว่าในอีกไม่นานปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศจะรุนแรงขึ้น ขนาดตลาดของไทยจะไม่เติบโต หากเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนดีขึ้นจะยิ่งสร้างความลำบากให้กับไทย

"สิ่งที่นักธุรกิจไทยจะต้องคำนึงถึงระยะอีก 4 ปีข้างหน้าเมื่อมีการเปิด AEC คือจำนวนแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานจะมีจำนวนลดลง จากนี้เป็นต้นไปหากสถานการณ์เพื่อนบ้านดีขึ้น ความยากลำบากของแรงงานประเทศเราจะมีมากขึ้น ที่ว่าลำบากในวันนี้ วันข้างหน้าจะยิ่งลำบากมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องอธิบายได้ เพราะเมื่อเราอยู่ในปัญหานี้ แต่ประเทศเพื่อนบ้านจะอยู่อีกระบบ คือมีแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าแรงต่ำลง"นายโฆสิต กล่าว

นายโฆสิต กล่าวว่า ประเทศไทยในอนาคตจะเริ่มเห็นแนวโน้มโครงสร้างประชากรในวัยทำงานลดลง ซึ่งจากข้อมูลในปี 53 สัดส่วนประชากรในวัยทำงานอยู่ที่ 67.4% แต่ในปีต่อๆ ไปจะลดลง สะท้อนว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งจำนวนแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานจะน้อยลง โดยน่าจะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไป มีผลในเชิงธุรกิจ 2 ด้าน คือ ปริมาณแรงงานที่จะไม่เพิ่มขึ้นและมีทิศทางลดลง และปริมาณผู้บริโภคจะไม่เพิ่มขึ้นและมีทิศทางลดลงเช่นกัน สะท้อนว่าในอนาคตตลาดในประเทศจะไม่ขยายตัว และแรงงานหายากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์และเวียดนาม ถึงแม้ขณะนี้จะมีรายได้น้อยกว่า แต่มีจำนวนประชากรมาก ทำให้ขนาดของตลาดใหญ่ และจากข้อมูลการศึกษาของธนาคารโลกสะท้อนว่าอำนาจซื้อที่เข้มแข็งที่สุดมากจากชนชั้นกลาง โดยพบว่าอำนาจซื้อของไทยจะเพิ่มขึ้นอีกไม่มาก และเมื่อถึงจุดหนึ่งอำนาจซื้อจะไม่เพิ่มขึ้นและมีทิศทางลดลง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย พบว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.2009-2014 คาดว่าจำนวนประชากรระดับชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านคน

ปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งเป็นแรงกดดันต่อนักธูรกิจ เนื่องจากไทยจะมีตลาดขนาดเล็ก เติบโตช้า แรงงานหายาก และมีแนวโน้มค่าแรงสูงขึ้น และด้วยเหตุนี้จะยิ่งส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนโดยตรง(FDI)จะมีน้อยลง เพราะเงินทุนต่างชาติไม่ได้มองแค่ไทย แต่มองถึงอาเซียน ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมีตลาดที่ใหญ่กว่าและมีแรงงานที่ถูกกว่า เช่น ตลาดอินโดนีเซียแย่ง FDI จากไทยไปแล้ว จากเดิมไทยเคยมีส่วนแบ่ง FDI ในภูมิภาคที่ 17% ขณะนี้เหลือเพียง 6% เท่านั้น

ดังนั้น ในอนาคตการที่จะหวังให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนจากการส่งออกและ FDI คงเป็นไปได้ยาก และการที่เงินทุนต่างประเทศหันไปมองประเทศอื่น ถือเป็นสัญญาณที่มองว่ามีตัวเลือกในอาเซียนที่มากกว่าไทย เพราะมีตลาดใหญ่และมีแรงงานที่มากกว่า

นายโฆสิต แนะนำให้นักธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อการหาตลาดใหม่ๆ และใกล้ชิดตลาด มีการจัดหาวัตถุดิบหรือใช้แรงงานที่ราคาถูกกว่า ซึ่งขณะนี้พบว่าบริษัทของไทยขนาดใหญ่หลายแห่งเรื่มหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นแล้ว แต่ประเทศไทยยังถือเป็นน้องใหม่ของการไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องไปแข่งขันในตลาดที่ไม่เคยรู้จัก มีคู่ต่อสู้ที่เราไม่เข้าใจและเก่งกว่า ดังนั้นการไปลงทุนต่างประเทศอาจจะเริ่มด้วยการส่งออกก่อนที่จะมีการขยายการลงทุนมากขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม มองว่าการออกไปลงทุนในอาเซียนจะต้องมีความเข้าใจอาเซียน เข้าใจความแตกต่างทั้งในแง่ของรายได้ โครงสร้าง ระบบบริหารประเทศ ภาวะการแข่งขัน และวัฒนธรรม ซึ่งนักธุรกิจไทยจะต้องเข้าไปเรียนรู้ ต้องลงมือคิดและทำ ทั้งนี้ มองว่าหากไทยประสบความสำเร็จในการแข่งขันในอาเซียนจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวสูงขึ้นจากระดับเฉลี่ยที่ 4% ต่อปี เป็น 5% ต่อปี

นายโฆสิต กล่าวว่า จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในตลาดมากขึ้น มีการเตรียมบุคลากร เตรียมการลงทุนที่พร้อม โดยคาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเห็นการลงทุนของธุรกิจไทยไปสู่อาเซียนอีกระลอกหนึ่ง คือในธุรกิจปูนซิเมนต์ กลุ่มซีพี เซ็นทรัล และ ปตท. ซึ่งหลังจากนี้ไปอาจจะเริ่มเห็นการขยายการลงทุนของธุรกิจ SME ในอาเซียนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ