"กิตติรัตน์"หารือปัญหา-อุปสรรคร่วมนักธุรกิจสหรัฐ แจงแผนป้องกันน้ำท่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 12, 2012 14:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวภายหลังพูดคุยและแลกเปลี่ยนความร่วมมือคณะนักธุรกิจสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกากว่า 100 คนว่า ได้พูดคุยเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจในหลายด้านระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยทางนักธุรกิจสหรัฐฯ ได้สอบถามถึงขอบเขตในเรื่องของธุรกิจบริการด้านการเงิน ซึ่งได้ชี้แจงว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้น กรณีนักธุรกิจต่างชาติจะเข้ามาลงทุนด้านการเงิน แต่เนื่องจากในประเทศมีผู้ประกอบการหลายราย จึงจำเป็นต้องมีการวางมาตรการเอาไว้ เพราะอาจเป็นอันตรายในการแข่งขัน แต่ก็พร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ทางสหรัฐฯ เข้ามาร่วมลงทุนในธนาคารต่างๆ ได้ หรือ ในเรื่องของตัวแทนประกัน ก็พร้อมเปิดโอกาสให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ ทางสหรัฐฯ ได้เสนอในเรื่องของซอฟต์แวร์หรือฐานความรู้ที่จะมาพัฒนาควบคู่ในเรื่องของการศึกษา ที่รัฐบาลเดินหน้าในเรื่องแท็ปเล็ต รวมถึงในเรื่องบริการสาธารณสุข ที่ทางสหรัฐฯ ต้องการให้มีตัวแทนนักธุรกิจสหรัฐฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการรับทราบทิศทางในเรื่องการบริการสาธารณสุขมากยิ่งขึ้นเพราะสหรัฐฯถือว่ามีความเชี่ยวชาญด้านเวชภัณฑ์

ในเรื่องของความกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีรถยนต์ นายกิตติรัตน์ ยอมรับว่า กรมสรรพาสามิตอยู่ระหว่างทบทวนโครงสร้างภาษีรถยนต์ โดยจะเน้นการลดปล่อยกาซเรือนกระจก แต่ยืนยันว่า ขณะนี้เป็นเพียงแนวความคิดเบื้องต้นที่ต้องมีการปรึกษากันและหากมีมาตรการอะไรออกมาจะมีการประกาศให้รับทราบเพื่อให้บริษัทรถยนต์มีเวลาในการปรับตัว

นักธุรกิจสหรัฐฯ ได้เสนอให้รัฐบาลมีการปรับตัวด้านโลจิสติกส์ หรือกระบวนการทางด้านศุลากากร ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของเพิ่มจุดตรวจตามด่านพรมแดนต่างๆ ซึ่งในฐานะรมว.คลังจะมีโอกาสพบปะกับนักธุรกิจกลุ่มนี้อีกครั้ง เพื่ออธิบายถึงแนวปฏิบัติทางด้านศุลกากร

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ในการพูดคุยวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้อธิบายถึงแนวทางการป้องกันอุทกภัยในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นแผนบริหารจัดการ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยด้วย ซึ่งทางประธานสภานักธุรกิจอาเซียนก็มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในแผนบริการจัดการน้ำของประเทศไทย

"การพูดคุยในวันนี้เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับนักธุรกิจสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้นและทางนักธุรกิจสหรัฐฯ พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศไทย หลังประสบปัญหาอุทกภัยเพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้เติบโตต่อไป และจะพยายามเข้าไปชักจูงบริษัทในสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น" ประธานสภานักธุรกิจอาเซียน กล่าว

หลังการหารือในวันนี้จะนำประเด็นสำคัญแต่ละด้านไปพูดคุยในลักษณะ working group กับรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับนักธุรกิจสหรัฐฯ ที่ร่วมหารือในครั้งนี้ ได้แก่ วีซ่า, มาสเตอร์การ์ด, ฟิลลิป มอริส, โคคา-โคลา, เอทีแอนด์ที, เฟดเอ็กซ์, ฟอร์ด มอเตอร์, จีอี, ไมโครซอฟท์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ