ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) ระบุว่า การขยายเพดานคุ้มครองเงินฝากช่วยลดความเสี่ยงและต้นทุนในการออมให้ภาคประชาชน อีกทั้งยังลดแรงกดดันจากการแข่งขันที่ร้อนแรงในตลาดเงินฝากลง
แนวคิดในการเพิ่มการคุ้มครองเงินฝากขึ้นจากที่กำหนดไว้ 1 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 11 สิงหาคมนี้ โดยอาจมีเพดานอยู่ที่ 5 ถึง 10 ล้านบาทนั้น เมื่อพิจารณาตัวเลขเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2554 แล้ว พบว่า หากใช้เกณฑ์ผู้ที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย กับเกณฑ์ผู้มีเงินฝากไม่เกิน 5 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท เมื่อคิดเป็นสัดส่วนรวมของผู้ฝากเงินธนาคารพาณิชย์แล้วจะอยู่ที่ร้อยละ 98.5 99.7 และ 99.9 ตามลำดับ ซึ่งถือได้ว่าครอบคลุมจำนวนผู้ฝากที่ใกล้เคียงกันมากและแทบจะดูแลผู้ฝากได้ทั้งหมด
แต่เมื่อพิจารณาเป็นมูลค่าเงินฝาก กลับพบว่า เกณฑ์ที่ 1 ล้านบาท จะครอบคลุมเงินฝากประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้น แต่เมื่อขยับเกณฑ์เป็น 5 ถึง 10 ล้านบาท จะครอบคลุมจำนวนเงินฝากประมาณครึ่งหนึ่งของเงินฝากรวม ซึ่งผู้ที่มีเงินออมในรูปเงินฝากในช่วง 5-10 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐีเสมอไป แต่อาจเป็นการออมที่ทำต่อเนื่องมาทั้งชีวิตจากการทำงานนับสิบๆปีก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เกษียณอายุซึ่งใช้ดอกเบี้ยเงินฝากจากเงินที่ออม เป็นรายได้ต่อเดือนเพื่อใช้จ่ายในการครองชีพ อีกทั้ง การเพิ่มเพดานคุ้มครองเงินฝากนั้นทำให้ผู้ฝากเงินไม่ต้องตระหนก รีบกระจายเงินฝากซึ่งต้องมีต้นทุนในการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เช่น การเดินทาง การทำบัญชี หรือ ต้นทุนทางใจ เช่น ความรู้สึกลำบากใจที่ต้องแจ้งให้สถาบันการเงินที่ใช้บริการกันมานานว่าขอถอนเงินฝากบางส่วน เป็นต้น เพราะฉะนั้น การคุ้มครองเงินฝากที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นการลดความเสี่ยงและต้นทุนของการออมผ่านเงินฝาก โดยอาจมองได้ว่าเป็นเสมือนแรงจูงใจเพิ่มเติมให้ประชาชนมีการออมมากขึ้นก็ว่าได้
การปรับเกณฑ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยผู้ฝากเงิน แต่ยังช่วยลดแรงกดดันในการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐด้วย เพราะ เมื่อเกณฑ์ถูกปรับ ผู้ฝากก็สามารถคงเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาทไว้ในธนาคารพาณิชย์ได้ โดยยังได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนที่ 5 ถึง10 ล้านบาท หรือ ตามที่กฎหมายจะระบุ เพราะหากประเมินจากแนวโน้มเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงที่เงินฝากธนาคารพาณิชย์ จะไม่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวนอีกต่อไป เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้เงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของเงินฝาก ระหว่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว จะเห็นว่า ธพ.ถูกทิ้งห่างในช่วงสามปีที่ผ่านมา (ปี 52-54) คือ ร้อยละ 4 กับ 23 จากช่วงปี 49-51 ที่ร้อยละ 5 กับ 9
อย่างไรก็ดี การเพิ่มเพดานคุ้มครองเงินฝากที่มากขึ้น ย่อมหมายถึงสัดส่วนเงินฝากที่ต้องคุ้มครองตามกฏหมายต่อกองทุนคุ้มครองเงินฝากก็จะสูงมากขึ้นตามไปด้วย โดยถ้าหากเพดานอยู่ที่ 1 ล้านบาท สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 28 เท่า(จากกองทุนปัจจุบันที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท) ซึ่งเมื่อเพิ่มเพดานเป็น 5 ล้าน หรือ 10 ล้าน อัตราส่วนดังกล่าวก็จะพุ่งขึ้นเป็น 42 หรือ 48 เท่าตามลำดับ อาจจะเป็นความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจได้ หากระบบสถาบันการเงินไทยไม่สามารถรักษาความแข็งแกร่งดังที่เป็นอยู่เอาไว้ได้