แม้มีสัญญาณว่ากรีซอาจรอดพ้นการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 20 มี.ค. หลังจากเจ้าหนี้ภาคเอกชนจำนวน 85.8% ได้ยอมรับข้อเสนอแลกเปลี่ยนพันธบัตรของรัฐบาลกรีซ แต่ข่าวดีดังกล่าวกลับไม่ส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของโปรตุเกสมากนัก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของโปรตุเกสยังคงยืนอยู่เหนือระดับ 13% ซึ่งสูงกว่าของสเปนและอิตาลีที่ปรับตัวลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 5% แล้ว
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของโปรตุเกส ยืนอยู่ที่ระดับ 13.71% ซึ่งแม้ว่าลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของยูโรโซนที่ 18.29% แต่ก็ยังสูงกว่าระดับเฉลี่ยของปี 2554 ที่ 10.17% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีอยู่ที่ 12.48% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปีที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลโปรตุเกสผ่านการตรวจสอบรอบที่ 3 ในเรื่องการดำเนินมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจจากเจ้าหนี้กลุ่มทรอยก้า ซึ่งประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู), ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แล้ว ภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่า 7.8 หมื่นล้านยูโร
การทบทวนมาตรการดังกล่าว ครอบคลุมถึงการปฏิรูประบบการเงินและการเสริมสร้างภาคธนาคารของโปรตุเกสให้แข็งแกร่ง ซึ่งการปฏิรูปโครงสร้างเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นศักยภาพด้านการแข่งขันของโปรตุเกส และตอบสนองความต้องการด้านการเงินของภาคเอกชนภายในประเทศด้วย
ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของอิตาลีร่วงลงกว่า 1.50% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสเปนปรับตวลดลง 0.80% นับตั้งแต่อีซีบีประกาศอัดฉีดเงินกู้ให้กับสถาบันการเงินโดยผ่านดำเนินมาตรการรีไฟแนนซ์ระยะยาว (LTRO) ระยะยาว 2 ครั้ง