นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) กล่าวภายหลังการปาฐกถาพิเศษเรื่อง การสร้างความสดุลของความเติบโตทางเศรษฐกิจกับความเข้มแข็งของสังคมของประเทศในเอเชียและสังคมโลก ว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมจำเป็นต้องแก้ปัญหาไม่ใช้เรื่องง่าย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายและการดำเนินนโยบายในทุกรัฐบาล โดยที่สำคัญต้องพิจารณาจากนโยบายเศรษฐกิจมหาภาค ทั้งในเรื่องนโยบายการเงินที่จำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและสร้างให้เกิดโอกาสการจ้างงาน เพราะหากดำเนินนโยบายตึงตัวเกินไป เพราะคิดว่าต้องเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ก็จะไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่ม
ส่วนนโยบายการคลัง การที่รัฐบาลไม่มีการก่อหนี้สาธารณะมากเกินไปถือเป็นโยบายที่ถูกต้อง ซึ่งระดับหนี้สาธารณะที่ 40%ของจีดีพีถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ดี แต่รัฐบาลต้องดำเนินการที่มากกว่า คือการหารายได้มากขึ้น โดยการเก็บภาษีจากสินทรัพย์ มากกว่าการเก็บภาษีจากเงินได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในแผนที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าอาจเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลอาจจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการแห่งชาติขึ้นมาพิจารณาการปรับโครงสร้างการคุ้มครองสังคมภายใต้รายได้ที่พอเพียง
""หากเราจะช่วยประกันสังคมแก้ปัญหายากขน ลดช่องว่าง เราก็มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งจากเงินงบประมาณที่จัดสรรเพื่อการศึกษาพบว่าลดลงเรื่อยๆ จากที่เคยสูง 5%ตอนนี้ต่ำกว่า 4% จำเป็นที่นโยบายการคลังจะมาช่วยหารายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในอดีตเราเคยใช้ภาษีแวต และต่อภาษีระบบภาษีต้องปฎิรูปต้องทำให้ภาษีจากสินทรัพย์สูงกว่าภาษีจากรายได้" นายศุภชัย กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายรายได้ควรมีการลงทุน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ในด้านอาชีวะ ที่ควรมีการฝึกอบรมแรงงาน เพื่อป้อนโรงงานต่างๆ เพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับประเทศในยุโรปที่มีการลงทุนในระดับอาชีวะจำนวนมาก ดังนั้น ในด้านนโยบายรายได้จะต้องไม่ทำให้รายได้ระดับอาชีวะต่างกับระดับอุดมศึกษา
ส่วนนโยบายด้านความเหลื่อมล้ำ จากคนในเมืองและชนบท ต้องทำเป็นนโยบายระดับชาติ ออกเป็นกฎหมายรองรับ และในท้องถิ่นมีความแตกต่างทั้งในแง่ของการลงทุน กฎระเบียบ การคมนาคม และความเจริญยังกระจุกตัวในเขตเมืองมากกว่า ดังนั้นจึงต้องกระจายความเจริญจากเมืองสู่ท้องถิ่นและต้องกำหนดอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ
"ในงบประมาณเพื่อลงทุน 15% น่าจะจัดสรรงบประมาณได้เพิ่มขึ้นเป็น 15-20% และใช้เพื่อการศึกษา 4-5% น่าจะช่วยให้รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น โดยไม่ได้ต้องการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม แต่ต้องครอบคลุมทั้งการศึกษา รักษาพยาบาล ผู้สูงอายุ " นายศุภชัย กล่าว