ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) ของประเทศไทยในปี 55 เพิ่มเป็น 5.9% จากก่อนหน้านี้คาดว่าจะเติบโต 4.7% โดยคาดว่า GDP ไตรมาส 1/55 โต 1.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการบริโภคและการลงทุนในการฟื้นฟูประเทศ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) ของประเทศไทยในปี 55 เพิ่มเป็น 5.9% จากก่อนหน้านี้คาดว่าจะเติบโต 4.7% โดยมองว่าการบริโภคและการลงทุนจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมจากการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากสถานการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมา
ขณะที่คาดการณ์ว่า GDP ช่วงไตรมาส 1/55 จะขยายตัวได้ 1.4% และช่วงครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ 2.8% ส่วนครึ่งปีหลังขยายตัวได้ถึง 9% สำหรับปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกจะเป็นผลมาจากการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งฟื้นฟูกิจการและทรัพย์สินราชการที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม รวมถึงการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกนั้น มองว่าในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะยังชะลอตัวอยู่บ้าง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้เป็นปกติ โดยเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาฟื้นตัวใกล้ 100% ได้ราวไตรมาส 3
"ไตรมาสแรกนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เพราะการฟื้นโรงงานภายหลังน้ำท่วมยังทำได้ไม่ปกติ คาดฟื้นได้แค่ 30-40% ซึ่งกว่าการผลิตจะกลับมาได้ 50-70% น่าจะเป็นราวไตรมาส 2 และจะกลับมาผลิตได้ใกล้ๆ ระดับ 100% ในราวไตรมาส 3" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่า GDP จะโตได้ 2.8% ซึ่งหากปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ไม่เกิดขึ้นหรือไม่มีความรุนแรงมากดังเช่นปีที่ผ่านมา ก็จะทำให้นักธุรกิจเริ่มมีความมั่นใจในการลงทุน ประกอบกับเป็นช่วงเดียวกับที่รัฐบาลได้อัดฉีดเม็ดเงินจากโครงการต่างๆ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำทั้งในส่วนของธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์รวมอีกประมาณ 3 แสนล้านบาทในช่วงกลางหรือปลายไตรมาส 2 ก็จะทำให้มีเม็ดเงินเริ่มเข้าสู่ระบบในราวไตรมาส 3 โดยในช่วงนี้มองว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะมีผลขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังโตได้ 9%
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ประเมิน GDP รายไตรมาสไว้ดังนี้ ไตรมาส 1/55 โต 1.4% ไตรมาส 2/55 โต 4.2% ไตรมาส 3/55 โต 5.2% และไตรมาส 4/55 โต12.8% และโดยรวมแล้วทั้งปี 55 GDP จะเติบโตได้ 5.9%
นายธนวรรธน์ คาดการณ์ภาวะการส่งออกในปีนี้ว่า จะเติบโตได้ราว 10.3% ที่มูลค่า 248,650 ล้านดอลลาร์ การนำเข้าโต 20.4% ที่มูลค่า 243,144 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเกินดุลการค้าราว 5,500 ล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลราว 4,900 ล้านดอลลาร์ ในระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ 29.50-30.50 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อนั้น คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 4% เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 3.8% เนื่องจากผลของการปรับราคาพลังงานและการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากราคาน้ำมันในประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1-2 บาท/ลิตรในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ก็คาดว่าอัตราเงินเฟ้อครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ราว 3.6%
อย่างไรก็ดี มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลบริหารราคาพลังงานในช่วงครึ่งปีแรกไม่ให้ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วนัก เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นทุก 1 บาท จะมีผลกดดันให้ GDP ลดลง 0.1-0.15% ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นทุก 1 บาท จะมีผลกดดันให้ GDP ลดลง 0.03-0.05% ซึ่งโดยรวมแล้วหากมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันทั้งในกลุ่มเบนซินและดีเซลก็จะส่งผลต่อ GDP ให้ชะลอลงราว 0.2%
"ถ้าราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเร็ว จะมีผลให้เศรษฐกิจชะลอลงได้ง่าย ยิ่งถ้าปรับขึ้นพร้อมกัน 2 ขาทั้งเบนซิน ดีเซล เศรษฐกิจจะชะลอตัวได้ 0.2% ดังนั้นเราอยากให้รัฐบาลบริหารราคาพลังงานจนถึงครึ่งปีแรกไม่ให้ปรับสูงขึ้นรวดเร็วนัก แต่หลังจากนั้นในช่วงครึ่งปีหลัง การปรับราคาพลังงานให้ใกล้เคียงกลไกตลาดนั้น เราสนับสนุน เพราะไม่เช่นนั้นฐานะการคลังจะมีปัญหาในเรื่องการจัดเก็บเงินเข้าสรรพสามิต" นายธนวรรธน์ ระบุ
ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น คาดว่า ณ สิ้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 3.00-3.25% ทั้งนี้มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำไว้ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่ง ม.หอการค้าไทย มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่มีเหตุผลที่จะปรับลดลง เพราะไม่เช่นนั้นอัตราเงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงก็อาจทำให้ ธปท.พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ราวไตรมาส 4/55
"เรามองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มีเหตุผลที่จะลด เพราะไม่เช่นนั้น เงินเฟ้อจะสูงขึ้นเร็ว ยังไม่มีเหตุผลที่จะลด(ดอกเบี้ย) เพราะเศรษฐกิจมีสัญญาณค่อยๆ ฟื้น และรัฐบาลกำลังอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นนโยบายการเงินขณะนี้จึงไม่มีเหตุผลจำเป็นในการลดดอกเบี้ย...แต่ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วตามราคาน้ำมันดิบที่ขึ้นเร็ว ธปท.อาจจะเปิดช่องในการขึ้นดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนสถานการณ์การเมืองในประเทศที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้นั้น นายธนวรรธน์ มองว่า แม้จะมีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น แต่หากการชุมนุมอยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎกติกาและไม่เป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อหรือสร้างความวุ่นวายก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อ GDP ในปีนี้ที่ยังคาดการณ์ไว้ที่ 5.9% หรือในกรอบที่ 5.7-6.3% แต่หากการชุมนุมทางการเมืองมีความวุ่นวายจนมีเหตุปะทะกันรุนแรงและยืดเยื้อบานปลายก็อาจจะมีผลกระทบต่อ GDP ได้ราว 0.3-0.5%