(เพิ่มเติม) ครม.เห็นชอบปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 55 เพิ่มสัดส่วนหนี้ฯคงค้างต่อGDP เป็น 48.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 13, 2012 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2555 ครั้งที่สอง แบ่งเป็น 5 แผนย่อย ได้แก่ 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ 2.แผนการปรับโครงสร้างหนี้ 3.แผนการบริหารความเสี่ยง 4.แผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี 5. แผนการก่อหนี้ของหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรีภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ

สำหรับแผนการก่อหนี้ใหม่ จากกรอบวงเงินเดิม 738,326 ล้านบาท ปรับเพิ่มอีก 447,761 ล้านบาท รวมเป็น 1,186,087 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.1 แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล คือกระทรวงการคลังขอปรับเพิ่มวงเงินการก่อหนี้ใหม่ในประเทศอีก 4.5 แสนล้านบาท จากวงเงินเดิม 3.5 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 8 แสนล้านบาท

โดยจะนำไปใช้เป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งปรับเพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาท จากวงเงินเดิม 3.5 แสนล้านบาท รวมเป็น 4 แสนล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555, เงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อรการวางะบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ,

เงินกู้เพื่อนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ โดยกระทรวงการคลังขอบรรจุการกู้เงินฯ ดังกล่าววงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ

1.2 แผนการก่อหนี้ใหม่ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การรถไฟแห่งประเทศไทย, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด, องค์การสวนยาง และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีทั้งขอปรับเพิ่มและปรับลดวงเงิน แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมทั้งหมดแล้ว จะเป็นการปรับลดวงเงินในแผนการก่อหนี้ใหม่ในประเทศของรัฐวิสาหกิจลงสุทธิ 2,238.989 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 341,954.704 ล้านบาท เป็น 339,715.715 ล้านบาท

2.1 แผนการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขอปรับลดวงเงินการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ การเคหะแห่งชาติ ขอปรับเพิ่มสัญญาเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระจากเดิม 3 สัญญา เป็น 7 สัญญา โดยยังคงกรอบวงเงินตามที่ได้รับอนุมัติเดิมจำนวน 5,500 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับรายรับของการเคหะแห่งชาติ, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขอปรับลดลงวงเงินการปรับโครงสร้างหนี้ลงสุทธิ 700 ล้านบาท โดย กทพ.ได้ดำเนินการชำระคืนหนี้พันธบัตรที่ครบกำหนดในช่วงเดือนธันวาคม 2554 ไปแล้ว วงเงิน 1,500 ล้านบาท แต่ภายหลังมีเหตุอุทกภัยทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามที่ กทพ.ประมาณการไว้ จึงมีความจำเป็นต้องขอเพิ่มวงเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติม จำนวน 800 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีแผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี ภายใต้กรอบแผนฯ ซึ่งบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ขอบรรจุรายการเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit line วงเงิน 30 ล้านบาท

หลังการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2555 ครั้งที่ 2 จะทำให้ภาพรวมของแผนฯ มีวงเงินเพิ่มขึ้น 447,091.01 ล้านบาท จากเดิม 1,794,948.47 ล้านบาท เป็น 2,242,039.48 ล้านบาท และทำให้วงเงินที่รัฐวิสาหกิจขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันจากเดิม 445,501 ล้านบาท ลดลง 3,210.98 ล้านบาท เป็น 442,290.02 ล้านบาท

โดยคาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จากการดำเนินงานตามแผนฯ ดังกล่าว มีผลคาดการณระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP และ ภาระหนี้ต่องบประมาณในปี 2555-2559 ดังนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2555 จะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP อยู่ที่ 48.6% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 9.3% ซึ่งไม่เกินจากกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ต้องไม่เกิน 60% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณต้องไม่เกิน 15%

สำหรับในปีงบประมาณ 2556 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP จะอยู่ที่ 50.4% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 7.6%, ปีงบประมาณ 2557 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP จะอยู่ที่ 52.1% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 11.6%, ปีงบประมาณ 2558 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP จะอยู่ที่ 53.2% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 11.6% และปีงบประมาณ 2559 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP จะอยู่ที่ 53.1% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 11.6%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ