ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า มีธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 15 แห่ง จากทั้งหมด 19 แห่งที่ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤติ (stress test) ซึ่งธนาคารที่ผ่านการทดสอบนั้น รวมถึงเจพีมอร์แกน, แบงก์ ออฟ อเมริกา และโกลด์แมน แซคส์ ส่วนธนาคาร 4 แห่งที่ไม่ผ่านการทดสอบนั้น รวมถึง ซิตี้กรุ๊ป และธนาคารเม็ทไลฟ์
เฟดระบุในรายงานการวิเคราะห์และประเมินเงินทุนแบบเบ็ดเสร็จ (CCAR) ว่า "ธนาคารรายใหญ่ 15 แห่งจากทั้งหมด 19 แห่งที่เข้ารับการทดสอบภาวะวิกฤติในครั้งนี้ มีแนวโน้มว่าจะสามารถรักษาสัดส่วนเงินทุนเอาไว้ได้สูงกว่าระดับต่ำสุดของเกณฑ์การทดสอบที่กำหนดไว้ ในขณะที่ธนาคารอีก 4 แห่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีสัดส่วนเงินทุนที่เพียงพอต่อการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า"
ธนาคาร 4 แห่งที่ไม่สามารถผ่านการทดสอบภาวะวิกฤติในครั้งนี้ได้แก่ ซิตี้กรุ๊ป, ซันทรัสต์, แอลลี ไฟแนนเชียล และเม็ทไลฟ์ เนื่องจากสัดส่วนเงินทุนขั้นต่ำไม่เพียงพอที่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งรวมถึงอัตราว่างงานที่อาจจะพุ่งขึ้นรุนแรงถึง 13%
ส่วนธนาคาร 15 แห่งที่ผ่านการทดสอบในครั้งนี้ได้แก่ แบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน, อเมริกัน เอ็กซ์เพรส, แคปิตอล วัน, รีเจียนส์, บีบีแอนด์ที, ฟิฟท์ เติร์ด, เวลส์ ฟาร์โก, แบงก์ ออฟ อเมริกา, พีเอ็นซี, โกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกน เชส, มอร์แกน สแตนลีย์, ยูเอส แบงก์คอร์ป และคีย์คอร์ป
การทดสอบภาวะวิกฤติในครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะประเมินว่าธนาคารเหล่านี้มีฐานเงินทุนมากพอที่จะต้านทานภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงและวิกฤติตลาดที่อยู่อาศัยหรือไม่ โดยเฟดระบุว่า ระดับเงินทุนที่แข็งแกร่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า ภาคธนาคารมีความสามารถในการปล่อยเงินกู้และยังสามารถดำเนินการตามกฎข้อบังคับด้านการเงินต่อไปได้ แม้ในขณะที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม