นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร กล่าวว่า หากหารือร่วมกับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคมแล้วยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนเรื่องการปรับขึ้นค่าโดยสารภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ สมาคมฯ จะขอปรับขึ้นราคาค่าโดยสารในอัตรา 6 สตางค์/กิโลเมตร ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ทันที โดยไม่รอการพิจารณาปรับขึ้นของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง
เนื่องจากสมาคมฯ ขอปรับขึ้นค่าโดยสารมาแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้อีกต่อไป หากรอถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีประชาชนเดินทางกลับต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากจะส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดทุนหนักจนถึงขั้นต้องปิดกิจการได้
"ตอนนี้ขอให้กระทรวงคมนาคมปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 6 สตางค์ต่อกิโลเมตรก่อน ทั้งที่ในความเป็นจริงควรปรับขึ้นที่ 7 สตางค์ต่อกิโลเมตร สมาคมฯ จะปรับขึ้นราคาในวันที่ 1 เมษายน โดยไม่รอคณะกรรมการฯ อนุมัติแล้ว โดยยอมที่จะจ่ายค่าปรับจากการขึ้นค่าโดยสารโดยไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการทำถูกกฎหมายแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตรงข้ามกระทรวงคมนาคมกลับจดทะเบียนรถตู้เถื่อนผิดกฎหมายเป็นรถถูกกฎหมายและมาวิ่งทับเส้นทางของผู้ประกอบการรถร่วม บขส."นางสุจินดา กล่าว
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางประชุมพิจารณาค่าโดยสารภายในสัปดาห์หน้า หลังจากราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ลิตรละ 32.33 บาท รวมทั้งราคาก๊าซเอ็นจีวีที่จะปรับขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการขอปรับราคาเป็นจำนวนมาก โดยพบว่าปัจจุบันค่าโดยสารคิดบนพื้นฐานราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 23.50-24.71 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันในปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 30.82-32.03 บาท
ส่วนการพิจารณาปรับขึ้นราคาแท็กซี่มิเตอร์นั้น จากการวิเคราะห์ต้นทุนผลกระทบของราคาเอ็นจีที่ปรับขึ้นเป็นลิตรละ 10.50 บาท จากเดิม 8.50 บาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 70 บาท เป็นผลจากค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 370 บาท จาก 300 บาท ซึ่งทำให้รายได้ของผู้ประกอบการแท็กซี่ลดลงเหลือวันละ 330 บาท จาก 400 บาท โดยรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเหลือ 9,900 บาท จาก 12,000 บาท จึงมีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นค่ามิเตอร์ให้กับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ เพราะค่าโดยสารรถแท็กซี่ไม่ได้มีการปรับราคามาตั้งแต่ปี 2551
แนวทางการปรับราคาแท็กซี่มิเตอร์มี 3 ทางเลือก คือ 1.ไม่ปรับค่ามิเตอร์เริ่มต้นที่ 35 บาท แต่ปรับอัตราค่าโดยสารระยะทางแบบขั้นบันไดระยะละ 50 สตางค์ เช่น ระยะ กม.ที่ 2-12 บาท จากเดิมค่าโดยสาร 5 บาท/กม.ปรับเป็น 5.5 บาท/กม. หรือ 2.ปรับขึ้นค่ามิเตอร์เริ่มต้นทันทีจากเป็น 40 บาท จากเดิม 35 บาท และคงราคาค่ามิเตอร์ตามระยะทางเช่นเดิม
และ 3.คงราคาค่ามิเตอร์เริ่มต้นที่ 35 บาท แต่ให้ปรับระยะทางแต่ละช่วงให้สั้นลง คือ จากเดิมระยะทางกม.ที่ 2-12 ค่าโดยสาร 5 บาท/กม.เปลี่ยนเป็นระยะทางที่ 2-4 กม. โดยแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ แนวทางที่ 1 คาดว่าจะสรุปผลว่าปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ในวันที่ 16 เม.ย.นี้