นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ดำเนินการยกร่างยุทธศาสตร์ยางพารา และองค์ประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อเข้ามาร่วมการบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราตั้งแต่ระดับต้นน้ำ คือ การผลิต ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจะประกาศเป็นยุทธศาสตร์ยางพาราโดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ กรอบแนวทางการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ยางพารานั้นมี 3 ส่วนสำคัญ คือ การขยายพื้นที่เพาะปลูก การพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากยางพาราเข้าประเทศปีละ 1 ล้านล้านบาทในปี 2556 จากเดิมที่ประเทศไทยสามารถผลิตยางปีละประมาณ 3.3 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 5 — 6 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนการส่งออกยางพาราทั้งระบบจำนวน 88% และใช้ในประเทศจำนวน 12%
“การส่งออกยางไปสู่ทะลุ 1 ล้านล้านบาทนั้น เชื่อมั่นว่ามีความเป็นไปได้แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือตั้งแต่ระดับต้นน้ำทั้งการผลิตที่กระทรวงเกษตรฯ ดูแล ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุน และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าในขณะที่ผลผลิตยางเท่าเดิม"
นอกจากนี้ ยังมองถึงการลงทุนด้านการแปรรูปยางของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมยางพาราที่สำคัญของโลก และมีความต้องการใช้ยางพาราถึง 3 ล้านกว่าตัน/ปี จากปริมาณยางพาราที่ผลิตเองได้ในประเทศเพียง 5 แสนตัน และในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีซึ่งมีกำหนดการเดินทางไปเยือนประเทศจีน ในเร็วๆ นี้ ก็จะเสนอให้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องยางพาราเป็นวาระสำคัญในการหารือกับผู้นำจีนอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยเปิดกว้างให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ และชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบยางพาราที่สำคัญที่สามารถลดต้นทุนในการขนส่ง รวมถึงการผลผลิตยางที่มีศักยภาพของไทย เพื่อดึงดูดให้แก่นักลงทุนชาวจีนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น นอกจากการเพิ่มตลาดใหม่ๆ ในการส่งออกยางพาราด้วย เช่น อินเดีย และรัสเซีย เป็นต้น
"การผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์ยางพาราให้สำเร็จเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในปีนี้ จะเป็นสินค้าเกษตรที่นำร่องเพื่อขยายผลไปยังสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำได้เช่นเดียวกัน"นายณัฐวุฒิ กล่าว