ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อคโฮล์ม (SIPRI) เผยว่า ตลาดค้าอาวุธโลกเติบโตเกือบ 25% ในปี 2550-2554 เมื่อเทียบกับช่วงห้าปีก่อน โดยอินเดียและกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียถือเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ห้าลำดับแรก
ภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียนำเข้าอาวุธคิดเป็นสัดส่วน 44% ของการนำเข้าอาวุธทั่วโลกทั้งหมด โดยหากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า อินเดียเป็นผู้นำเข้าอันดับหนึ่ง รองลงมาคือเกาหลีใต้ ปากีสถาน จีน และสิงคโปร์ โดยสัดส่วนการนำเข้าอาวุธของประเทศทั้งห้าคิดเป็น 10%, 6%, 5%, 5%, และ 4% ตามลำดับ
สถาบัน SIPRI เชื่อว่า ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ตลอดจนความขัดแย้งเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศในแถบทะเลจีนใต้เป็นเหตุให้ความต้องการอาวุธในทวีปเอเชียมีมากขึ้น ส่งผลให้ทั่วโลกมีปริมาณการเคลื่อนย้ายอาวุธในปี 2550-2554 เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปี 2545-2549
รายงานกล่าวเพิ่มเติมว่า จีนซึ่งเคยเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่สุดในปี 2545-2549 ได้ลดการนำเข้าอาวุธลง เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตอาวุธในประเทศมีความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันปริมาณการส่งออกอาวุธของจีนก็พุ่งขึ้น 95% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการนำเข้าอาวุธของประเทศปากีสถาน ปัจจุบันนี้จีนจึงได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่อันดับหกของโลก
ปีเตอร์ วีซแมน นักวิจัยอาวุโสในโครงการเคลื่อนย้ายอาวุธของ SIPRI เผยว่า "ขณะนี้ประเทศผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ในทวีปเอเชียพยายามหาวิธีพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอาวุธของตนเอง และลดการพึ่งพิงแหล่งผลิตอาวุธจากต่างประเทศ"
ด้านประเทศผู้ผลิตอาวุธ พบว่าสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่สุดของโลก ตามมาด้วยรัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ
จากการศึกษาดังกล่าวพบว่า เกาหลีใต้สั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วน 74% ของปริมาณอาวุธนำเข้าทั้งหมด ขณะที่อินเดียและจีนสั่งซื้ออาวุธจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 80% และ 78% ตามลำดับ สำนักข่าวเกียวโดรายงาน