นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.วันนี้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับดังกล่าวยังสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต และดูแลอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ธปท. พร้อมยืดหยุ่นนโยบายการเงินตามสถานการณ์ เนื่องจากเงินเฟ้อยังเสี่ยงเร่งตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 55
"กนง.ประเมินว่าการที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเริ่มลดลง และเศรษฐกิจไทยมีแรงส่งที่ดีขณะที่แรงกดดันด้านราคามีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมกับดูแลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีอยู่"นายไพบูลย์ กล่าว
กนง.เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความชัดเจนขึ้น โดยเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นทุกด้านและชี้ว่าภาคการผลิต น่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ โดยมีแรงสนับสนุนจากรายได้การจ้างงาน และความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น นโยบายกระตุ้นของภาครัฐ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการส่งออกจะทยอยฟื้นตัวตามภาวะการผลิต และได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มทรงตัวในระยะสั้น แต่มีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นได้ในระยะต่อไปจากราคาน้ำมันโลก และผลของการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
ทั้งนี้ ธปท.ได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยปี 55 เป็นโต 5.7% จากเดิม 4.9% และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 55 เป็น 3.4% จาก 3.2% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 2.4% โดย ธปท.เห็นว่า GDP ในระดับ 5.7% ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตเข้าใกล้ศักยภาพที่แท้จริงที่ราว 5.0-5.5% โดยได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศทั้จากภาครัฐและเอกชน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสริมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังล่าสุด ยังเห็นพ้องกันที่จะให้คงใช้กรอบเงินเฟ้อปี 55 เป็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.5-3.0% และจะมีการทบทวนอีกครั้งว่าจะใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหรือไม่ในปี 56 แต่ไม่ว่าจะใช้เงินเฟ้อใด แนวทางการตัดสินใจคงไม่แตกต่างกัน เพราะวัตถุประสงค์ของการทำนโยบายการเงินคือการดูแลระดับราคาสินค้า ดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้าของประชาชนไม่ให้อยู่ในระดับที่ก่อปัญหาในระยะข้างหน้า
กนง.ยังเห็นว่าเศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวในระดับต่ำแต่มีความเสี่ยงน้อยลงนับจากการประชุมครั้งก่อน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นจากการจ้างงานและความเชื่อมั่นที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในยุโรปลดน้อยลงหลังจากที่ประเทศกรีซสามารถบรรลุข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะครั้งใหญ่ได้รวมทั้งมีมาตรการเสริมสภาพคล่องระยะยาวของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเอเชียชะลอตัว แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว หลังจากชะลอลงในช่วงก่อนหน้า
ประกอบกับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังที่สนับสนุนอุปสงค์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่เร่งตัวเพราะปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
"กนง.มีมติให้จับตาผลกระทบรอบสองจากการปรับขึ้นราคาน้ำมัน และค่าจ้างแรงงานในเดือนเม.ย."นายไพบูลย์ กล่าว