น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยว โดยมี นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมตัวแทนจากหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อระดมความเห็นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความล่าช้าในการให้บริการผู้โดยสารบริเวณจุดตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โดยในการประชุมมีการนำเสนอ 8 ประเด็นเร่งด่วน เช่น นโยบายการดำเนินงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและแนวทางการส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยว, การยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย, การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 58 ทั้งนี้เพื่อให้เป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน คือ จำนวนนักท่องเที่ยว 30 ล้านคน สร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท ในปี 58
สำหรับที่ประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยว มีผู้บริหารภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประชุมหารือเชิงวิชาการในการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการรวมทั้งปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้การท่องเที่ยวไทยมีความเติบโตก้าวหน้า โดยได้มีการหารือเชิงปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยวดังนี้
1.นโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ นโยบายการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยว
2.โครงการ Miracle Thailand Year ซึ่งจะมีการจัดงาน Miracle Year Amazing Thailand 2012 "ปีมหัศจรรย์เมืองไทย 2555" เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยกำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.-1 เม.ย.55 ณ Hall 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
3.การพัฒนา Brand การท่องเที่ยวไทย (ททท.) ซึ่งพัฒนาจาก Brand การท่องเที่ยวเดิม "Amazing Thailand" เน้นความเป็นมหัศจรรย์ของเมืองไทยมากขึ้น
4.การแก้ไขปัญหาการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและภูเก็ต ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือในทุกด้านเพื่อการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างเร่งด่วน และเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถทางด้านภาษาเพื่อปฏิบัติงานตรวจคนเข้าเมือง ทำการติดตั้งช่องตรวจอัตโนมัติ โดยจะเปิดใช้บริการในวันที่ 11 เมษายน 2555 และจัดทำ SNAKE LINE อำนวยความสะดวกในการให้บริการผู้โดยสารให้รวดเร็วขึ้น
5.การแก้ไขปัญหาความปลอดภัย การเอาเปรียบและการหลอกลวงนักท่องเที่ยว โดยการจัดระเบียบผู้ค้าขายหาบเร่แผงลอยตามแนวชายหาด เพื่อความเป็นระเบียบและภูมิทัศน์ที่สวยงาม และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำ MOU ร่วมกับส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจที่อาจจะเอาเปรียบนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมัน และมีมาตรฐานเรื่องราคาไม่ให้นักท่องเที่ยวถูกเอาเปรียบ
6.การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านมัคคุเทศก์และบริษัทนำเที่ยว โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนในการเรียนรู้ภาษาสำหรับมัคคุเทศก์ที่มีศักยภาพ มีความรู้ด้านภาษา และมีวุฒิการศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะ มีความรู้ทางด้านภาษาให้สามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
สำหรับการยกระดับมาตรฐานมัคคุเทศก์และบริษัทนำเที่ยว นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะว่าควรจัดระดับคล้ายๆ กับการจัดระดับของโรงแรมเป็นระดับต่างๆ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาดำเนินการออกหลักเกณฑ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการสร้างความประทับ และความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น
7.การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
8.การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ด้านสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ได้เสนอ 2 แนวทางให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาการลงทุนก่อสร้างสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ในประเทศไทย คือ 1.ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนสวนสนุกเอง และ 2.สนับสนุนให้เอกชนเข้ามาลงทุน โดยได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ
พร้อมชี้แจงว่าต้องการให้ภาครัฐสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสร้างจุดขายใหม่ๆ โดยเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย ได้เปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่จะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการลงทุนสถานที่ท่องเที่ยวแต่อย่างใด ทั้งนี้แม้คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าจะเป็นจุดขายในระยะยาวที่จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่ง