(เพิ่มเติม) ญี่ปุ่นเผยยอดเกินดุลการค้า 3.29 หมื่นล้านเยนในเดือนกุมภาพันธ์

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 22, 2012 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้า 3.29 หมื่นล้านเยนในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ขาดดุลการค้าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมกราคม

รายงานเบื้องต้นของกระทรวงระบุว่า มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นลดลง 2.7% จากปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 5.4409 ล้านล้านเยน ซึ่งหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.2% สู่ระดับ 5.4079 ล้านล้านเยน และขยายตัวเป็นเดือนที่ 26 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นสูงกว่าการนำเข้า 3.29 หมื่นล้านเยน (394 ล้านดอลลาร์) และถึงแม้ว่าตัวเลขเกินดุลด้านสินค้าจะลดลง 94.8% จากปีก่อนและเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ในรอบมากกว่า 30 ปี ได้ตอกย้ำว่าแนวโน้มที่ว่าการส่งออกโดยรวมได้ชะลอตัวลงในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.2% แตะที่ 5.4079 ล้านล้านเยน ท่ามกลางการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งอุปสงค์ก๊าซธรรมชาติเหลวที่แข็งแกร่งในตลาดภายในประเทศ เนื่องจากใช้ไฟได้หนุนการผลิตไฟฟ้าจากความร้อนในฐานะพลังงานทางเลือก อันเนื่องมาจากการสะดุดลงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลังเกิดเหตุวิกฤติที่ไรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ

ยอดส่งออกไปยังสหรัฐของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 11.9% สู่ระดับ 9.534 แสนล้านเยน และขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และหากแยกตามประเภทสินค้า การส่งออกรถยนต์ เหล็กกล้า และ เครื่องจักรในการก่อสร้างนำยอดส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนยอดนำเข้าจากสหรัฐได้ขยายตัว 4.3% สู่ระดับ 4.763 แสนล้านเยน ส่งผลให้ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าสหรัฐเพิ่มขึ้น 20.7% แตะที่ 4.771 แสนล้านเยน

อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังจีนของญี่ปุ่นยังคงลดลง 13.9% มาอยู่ที่ 1.0014 ล้านล้านเยน ในขณะที่การนำเข้าจากจีนลดลง 0.5% สู่ระดับ 9.166 แสนล้านเยน ส่งผลให้เกินดุลการค้า 8.48 หมื่นล้านเยน และเป็นการเกินดุลครั้งแรกในรอบปี

ส่วนการส่งออกไปยังตลาดเอเชียของญี่ปุ่นมียอดเกินดุล 6.772 แสนล้านเยน ลดลงเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน โดยยอดส่งออกลดลง 6.6% มาอยู่ที่ระดับ 2.9101 ล้านล้านเยน และลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

ในส่วนของสัญญาณที่เป็นบวก ยอดส่งออกไปยังประเทศไทยได้ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ซึ่งสร้างความมั่นใจต่อมุมมองที่ว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นและผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยลงจากการสะดุดลงของอุปทาน อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา สำนักข่าวเกียวโดรายงาน

E

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ