ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดเงินเฟ้อเร่งตัวสูงใน H2/55 เก็งQ4ธปท.อาจปรับขึ้นดบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 22, 2012 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน และค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น กดดันงินเฟ้อในปีนี้ ประเมินทั้งปี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% โดยจะเร่งตัวในครึ่งหลังของปี และอาจจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นในไตรมาส 4 นี้ ขณะเดียวกันมองว่า ตลาดหุ้น และเงินบาทในปีนี้ผันผวน ปัจจัยหลักจากกระแสเงินทุนไหลเข้าออกประเทศ

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าจีดีพีของไทยในปี 55 เฉลี่ยอยู่ที่ 5% และเงินเฟ้อน่าจะเฉลี่ยที่ 3.9% จากกรอบ 3.5-4.5% โดยในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 เงินเฟ้อยังต่ำประมาณ 3.5% แต่จะมากขึ้นในครึ่งหลังของปีที่คาดว่าจะมาที่ 4% จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และ ค่าแรงจะปรับขึ้นใน 1 เม.ย.นี้ ส่งผลให้ต้นุทนผู้ประกอบการและค่าครองชีพสูงขุ้น

อย่างไรก็ดี มองว่า ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางจากอิหร่านนั้นมีโอกาสน้อยที่จะเกิดเป็นวิกฤติการณ์น้ำมัน เพราะสหรัฐไม่อยากใช้มาตรการทางทหารกับอิหร่าน เนื่องจากสหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน พ.ย. 55 และไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่รับปากจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นและสหรับจะนำน้ำมันสำรองออกมาใช้ อย่างไรก็ดี มองว่าหากสถานการณ์ยื้อเยื้อไปถึงปลายปีราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปีนี้อาจสูงถึง 195 เหรียญ/บาร์เรล หรือสูงขึ้น 84% จากปีก่อน

"ครึ่งปีแรก เงินเฟ้อยังไม่น่ากังวล แต่ครึ่งปีหลัง ราคาจะสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าจ้าง ราคาน้ำมัน ...สรุปเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี มีประเด็นเรื่องภาระต้นทุน ค่าครองชีพ แต่ภาพรวมคิดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% จากปีที่แล้วฐานต่ำ แต่การส่งออกจะชะลอตัว" นางพิมลวรรณ กล่าว

ส่วนนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ไทยจะไม่เผชิญกับผลกระทบรอบสองจากการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ทั้งนี้ เห็นว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อเงินเฟ้อสูงขึ้นประมาณ 0.6-0.7% ประกอบกับในปีนี้ ราคาสินเค้าเกษตรต่ำกว่าปีก่อนจะทำให้ไม่เร่งตัวเงินเฟ้อให้สูงขึ้น

ขณะที่ นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช้วยกรรมการผู้จัดหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะยังทรงตัวที่ระดับ 3% ไปอีก 3-6 เดือน จากคำกล่าวของผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ระบุว่า ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อยังไม่เป็นปัญหารุนแรงซึ่งยังไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่ครอบคลุมเป็นการทั่วไปเช่นนโยบายอัตราดอกเบี้ยหรือ นโยบายทางภาษี

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายหากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกยังคงทรงตัวและราคาน้ำมันสูงขึ้น อาจจะทำให้ ธปท.ต้องกลับมาทบทวนดอกเบี้ยนโยบายได้

ขณะเดียวกันเงินทุนจากต่างประเทศ(Fund Flow) ได้ไหลเข้าประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 55 โดยขณะนี้ไหลเข้าตลาดหุ้น ประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท และในตลาดตราสารหนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้มีผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า แต่ในเดือน มี.ค.นี้ เงินบาทเริ่มอ่อนค่า จากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก จากความกังงลการเติบโตเศรษฐกิจที่อาจไม่ดีอย่างที่คาดไว้ และปัญหาหนี้ยุโรปยังไม่จบ รวมทั้งน้ำมันแพง กดดันฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไทย อาจทำให้ Fund Flow ที่เข้าไทยขาดความต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ขณะนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้น จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐ ทำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทร้พย์เสี่ยง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทในปีนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 29.50-32.50 บาท/ดอลลาร์

นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เงินบาทได้ผ่านจุดอ่อนค่าสุดไปแล้ว แนวโน้มเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่ก็ขึ้นกับกระแสเงินทุนไหลเข้า หรือ ไหลออก ที่มีผลต่อค่าเงินบาท

อนึ่ง วานนี้ ธปท.ได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยปี 55 เป็นโต 5.7% จากเดิม 4.9% และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 55 เป็น 3.4% จาก 3.2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ