กท.โพลล์เผยคนไม่เชื่อมั่นรัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพ จี้นายกฯ ลงมาดูแลเอง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 23, 2012 09:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ "กรุงเทพโพลล์" เผยผลสำรวจเรื่อง "เสียงสะท้อนจากประชาชนเรื่องค่าครองชีพในปัจจุบัน" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ประชาชน 76.1% ระบุว่าราคาสินค้าในปัจจุบันมีผลกระทบต่อการครองชีพของตัวเองและครอบครัว โดยมองว่าเป็นเพราะของแพงเกินไป, สินค้าขึ้นราคาแต่รายได้เท่าเดิม เป็นต้น ขณะที่ประชาชน 53.2% ระบุว่า มีรายรับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเงินออมออกมาใช้, การกู้หนี้ยืมสิน หรือการหารายได้เสริม เป็นต้น

สำหรับวิธีรับมือกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น อันดับแรก คือ ประหยัดให้มากขึ้น รองลงมาคือ ซื้อของเท่าที่จำเป็นร้อยละ อันดับสาม ใช้จ่ายให้น้อยลงโดยลดปริมาณหรือลดจำนวนในการซื้อลงจากปกติ

ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน คือ ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น รองลงมาคือ รัฐบาลไม่มีการกำหนดนโยบายและควบคุมราคาสินค้าที่ชัดเจน อันดับสาม ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น อันดับสี่ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และอันดับห้า การบริหารงานอย่างผิดพลาดของรัฐบาล

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความสามารถในการบริหารจัดการเรื่องค่าครองชีพระหว่างรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น ประชาชน 28.3% ตอบว่าสามารถบริหารจัดการค่าครองชีพได้ดีพอๆ กัน ขณะที่ประชาชนในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ 27.5% ตอบว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำได้ดีกว่า และอีก 26% มองว่าบริหารจัดการค่าครองชีพไม่ดีทั้ง 2 รัฐบาล

อย่างไรก็ดี ประชาชน 50.1% ระบุว่ารัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอาใจใส่กับการแก้ปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบัน ขณะที่ในสัดส่วนใกล้เคียงกันอีก 49.9% ระบุว่าไม่เอาใจใส่ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาค่าครองชีพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประชาชน 61.3% ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น โดยมีเพียง 38.7% ที่ระบุว่าเชื่อมั่น

สำหรับเรื่องที่ประชาชนต้องการเสนอแนะรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.ให้ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงไปกว่านี้ 2.ให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่มาดูปัญหาด้วยตนเอง ใส่ใจดูแลเรื่องปากท้องของประชาชนให้มากกว่านี้ 3.เพิ่มเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำโดยเร็วให้ทั่วถึงกันทั้งราชการและภาคเอกชน 4.คุมราคาเชื้อเพลิงและพลังงานให้ถูกลงกว่านี้ และ 5.ปรับราคาสินค้าต่างๆ ให้ถูกลง

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,203 คน ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 20-22 มี.ค.55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ