สศก.คาดเศรษฐกิจการเกษตร Q1/55 หดตัว 1.5% ผลจากอุทกภัย, ทั้งปีโต 4-5%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 23, 2012 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2555 พบว่า หดตัวลงประมาณร้อยละ 1.5 จากผลกระทบอุทกภัยครั้งรุนแรงในช่วงปี 2554 ส่งผลต่อเนื่องมายังต้นปี 2555

โดยสาขาพืช อัตราการเจริญเติบโตในไตรมาส 1 ปี 2555 หดตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีบางส่วนได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2554 ประกอบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบภัยน้ำท่วมได้เลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปรังออกไป ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังจะทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตลดลงเช่นกัน เพราะเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว และเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ดูแลรักษาง่ายและให้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ถั่วเหลือง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาที่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ดีในช่วงปีที่ผ่านมา จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต

ด้านราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ยกเว้นหัวมันสำปะหลังสดคละ ยางพาราดิบชั้น 3 และผลปาล์มน้ำมัน ที่ราคาหดตัวลง ตามความต้องการของตลาดโลกที่ชะลอลง ส่งผลต่อเนื่องมายังราคาภายในประเทศให้อ่อนตัวลง

ด้านสาขาปศุสัตว์ การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 เช่น ไก่เนื้อ ไข่ไก่ เป็นต้น สำหรับด้านราคาสินค้าปศุสัตว์ สุกรและน้ำนมดิบ มีราคาสูงขึ้น โดยราคาสุกรเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ส่วนราคาไก่เนื้อและไข่ไก่ แม้จะมีทิศทางลดลง แต่ก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 - 5.0 เมื่อเทียบกับปี 2554 แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ภาคเกษตรจะยังคงหดตัวจากผลกระทบน้ำท่วมในปี 2554 แต่คาดว่าจะสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคเกษตรยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น โรคระบาด ภัยแล้ง และปัญหาอุทกภัย ทั้งนี้ ระบบการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่ดีขึ้น จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกก็มีความผันผวนมากขึ้น อาทิ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางจากปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป อาจทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยชะลอตัวลง โดยเมื่อจำแนกเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช ในภาพรวมคาดว่ามูลค่าการผลิตในสาขาพืชเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 4.9 — 5.9 และคาดว่าในปี 2555 มูลค่าการผลิตสาขาพืชจะเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน สำหรับด้านราคา คาดว่าราคาพืชส่วนใหญ่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำพืชสำคัญบางชนิด เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง จะส่งผลให้ราคาพืชดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้น สาขาปศุสัตว์ การผลิตสาขาปศุสัตว์ปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.5 — 2.5 เนื่องจากสถานการณ์การผลิตสินค้าปศุสัตว์ต่าง ๆ เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศยังคงมีอยู่มากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลัก

อีกทั้ง ประเทศไทยจะได้รับการชดเชยโควตาส่งออกสัตว์ปีกไปยัง EU เพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนระบบโควตา ระบบภาษีของ EU ในเดือนมีนาคม 2555 และมีแนวโน้มการประกาศยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทยไป EU ในสิ้นเดือนมิถุนายน 2555

สำหรับราคาปศุสัตว์โดยเฉลี่ยในปี 2555 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น การรักษาระดับผลผลิตที่ออกสู่ตลาด และการพัฒนาคุณภาพที่ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ