ก.เกษตรฯ ใช้ข้อมูลดาวเทียม SMMS พยากรณ์ผลผลิต นำร่องข้าวนาปรังปี 55

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 23, 2012 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม SMMS (Small Multi-Mission Satellite) ในการประมาณเนื้อที่เพาะปลูกและผลผลิตพืชเศรษฐกิจ โดยจะนำร่องโครงการพยากรณ์ผลผลิตข้าวโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมร่วมกับการตั้งแปลงสังเกต โดยมีไอซีทีให้ความร่วมมือในฐานะหน่วยงานเจ้าของข้อมูล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้

ซึ่งการดำเนินงานจะมีการนำข้อมูลดาวเทียม SMMS (Small Multi-Mission Satellite) มาใช้ในการวิเคราะห์เนื้อที่เพาะปลูกข้าว และค่าดัชนีพืชพรรณ (Vegetation Index : VI) เพื่อหาความอุดมสมบูรณ์ของต้นข้าว และมีการวัดค่าการสะท้อนแสงจากเครื่องมือ Spectrometer ในทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าว ตั้งแต่ช่วงต้นกล้า ช่วงแตกกอ ช่วงตั้งท้อง ช่วงออกรวง และช่วงเก็บเกี่ยว

หลังจากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ร่วมกับข้อมูลดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์ช่วงการเจริญเติบโตของข้าว อีกทั้งในจุดสำรวจเดียวกันนั้น ยังนำวิธีการสำรวจข้อมูลโดยการตั้งแปลง สังเกต (Objective Yield Survey; OYS) ซึ่งเป็นวิธีการสำรวจโดยการบันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตของข้าวอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ช่วงเริ่มเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เช่น จำนวนต้นหรือจำนวนกอต่อพื้นที่ตัวอย่าง จำนวนรวงต่อกอ จำนวนเมล็ดต่อรวง ตลอดจนน้ำหนักต่อเมล็ด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการสร้างแบบจำลองเพื่อพยากรณ์ผลผลิตข้าว อันถือเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาการพยากรณ์ผลผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นต่อไป

"จากการเกิดอุทกภัย เมื่อปลายปี 2554 ได้มีผลกระทบต่อระยะเวลาการเพาะปลูกข้าวทำให้พื้นที่ที่น้ำท่วมปลูกข้าวล่าช้ากว่าปีก่อนๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวและระยะเวลาเพื่อออกสู่ท้องตลาดต่างจากปีที่ผ่านมา การนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม SMMS มาประเมินเนื้อที่และติดตามการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2555 จะทำให้การคาดการณ์ผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น และทำให้สามารถจำแนกเนื้อที่เพาะปลูกข้าว ประเมินเนื้อที่ และติดตามการเพาะปลูกข้าวนาปรัง โดยดำเนินการเดือนละ 1 ครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่าการนำข้อมูลดาวเทียมมาใช้จะทำให้สามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ต่อไป"นายอภิชาต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ