นายกสมาคมฯ มั่นใจ H1/55 ส่งออกข้าวดีขึ้นได้ออร์เดอร์ไนจีเรียหนุน ลุ้นทั้งปีเกินเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 26, 2012 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยปลายไตรมาสแรกของปี 55 น่าจะดีขึ้นจากช่วงแรกของไตรมาส เนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวนึ่งจากไนจีเรียเข้ามาประมาณ 300,000-500,000 ตัน แต่ไม่ได้ส่งรวดเดียวทั้งหมด คงจะทยอยส่งตั้งแต่ มี.ค.จนถึง พ.ค.55 จึงน่าจะทำให้ยอดการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เติบโตขึ้นได้

"ได้คำสั่งซื้อจากไนจีเรียเข้ามาก็น่าจะทำให้ยอดการส่งออกในช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคมดีขึ้นน่าจะเกิน 500,000 ตันต่อเดือน"น.ส.กอบสุข กล่าว

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกข้าวล่าสุดในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-19 มี.ค.55 ส่งออกข้าวไปแล้ว 1,307,487 ตัน ลดลงประมาณ 50.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 2,615,702 ตัน เมื่อจำแนกเป็นรายเดือน พบว่าเดือน ม.ค.55 ส่งออกได้ 439,586 ตัน เดือน ก.พ.55 ส่งออกได้ 616,136.06 ตัน และ 1-14 มี.ค.55 ส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งไปแล้ว 173,595.50 ตัน

ส่วนทั้งปียังหวังว่าจะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 6.5 ล้านตัน ซึ่งยังไม่รวมการขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี อีกประมาณ 2.5 ล้านตัน รวมแล้วปีนี้ไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ไม่น้อยกว่า 9 ล้านตัน

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า รัฐบาลไทยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ(MOU)ว่าด้วยการซื้อขายข้าวกับรัฐบาลบังกลาเทศ เพื่อขายข้าวนึ่งไทยไม่เกินปีละ 1 ล้านตัน ระหว่างปี 55-56 และก่อนหน้านี้ได้ทำ MOU ขายข้าวให้รัฐบาลอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่มีแผนบาร์เตอร์เทรด (แลกสินค้า) ขายข้าวแลกแท็บเล็ตกับจีน

และวันที่ 23 มี.ค.นี้ จะนำคณะไปเวียดนามเพื่อประชุมหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงการค้าของเวียดนาม โดยจะมีการประเมินสถานการณ์การค้าข้าวโลกเพื่อกำหนดทิศทางการค้าข้าวโลกร่วมกันในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ซึ่งเชื่อว่าส่งออกข้าวไทยปีนี้จะไม่ต่ำกว่า 9 ล้านตัน

ด้านปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทยนั้น น.ส.กอบสุข กล่าวว่า ต้องรอดูว่าไนจีเรียจะสั่งซื้อต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าซื้อต่อเนื่องก็เป็นไปได้ว่าตลาดรองรับยังคงที่ แต่ถ้าไม่ซื้อต่อยอดส่งออกในส่วนของภาคเอกชนในปีนี้ก็คงอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน

"เดิมทีไนจีเรียเคยซื้อข้าวนึ่งจากไทยอยู่แล้วแต่พออินเดียวกลับมาส่งออก ก็หันไปซื้อจากอินเดีย แต่เนื่องจากคนที่รับประทานข้าวไทยในไนจีเรียก็มี พอไม่ได้ทานข้าวจากไทยนานๆเข้าสินค้าก็หมดตลาด ผู้บริโภคเรียกร้อง ผู้นำเข้าก็เลยหันกลับมาซื้อจากไทยอีก" น.ส.กอบสุข กล่าว

นอกจากนั้นต้องรอดูผลจากภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือภาวะน้ำท่วม รวมทั้งประเทศคู่แข่งด้านส่งออก คือ เวียดนามที่ประกาศว่าจะส่งออกข้าวให้ได้มากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 1 แทนประเทศไทยที่ข้าวมีราคาแพงทำให้แข่งขันยาก ส่วนอินเดียก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดส่งออก ที่สำคัญทั้งเวียดนามและอินเดียราคาถูกกว่าไทยประมาณ 100 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน

"หวังว่าจะมีความต้องการจากประเทศใหญ่ๆ เช่น จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่อาจจะเป็นการขายแบบจีทูจี และบางส่วนอาจจะเป็นการประมูล ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ข้าวไทยแข่งขันได้จากสัญญาซื้อจากประเทศใหญ่ๆ เหล่านี้"นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ