อินโดนีเซียมีแนวโน้มแซงมาเลย์เป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของโลก

ข่าวต่างประเทศ Monday March 26, 2012 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สื่อท้องถิ่นอินโดนีเซียรายงานว่า มีการคาดการณ์ว่าประเทศอินโดนีเซียจะแซงหน้ามาเลเซียขึ้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนรายใหญ่ที่สุดของโลกในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกปาล์มของอินโดนีเซียมีจำนวนเพิ่มขึ้น

หนังสือพิมพ์จาการ์ต้าโพสต์รายงานโดยอ้างคำพูดของนางเดสิ คุสุมาเทวี ผู้อำนวยการอินโดนีเซียในกรอบเจรจาโต๊ะกลมเพื่อการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (RSPO) ว่า เมื่อปีที่แล้วอินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ผ่านการรับรอง (CSPO) ได้ภายในประเทศราว 2.3 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับยอดผลิต 2.7 ล้านตันของมาเลเซีย ที่รั้งตำแหน่งประเทศผู้ผลิต CSPO รายใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้

ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนทั่วประเทศรวม 465,745 เฮกเตอร์ เปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียที่มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 534,861 เฮกเตอร์

นางเดสิกล่าวว่า "ในเดือนกุมภาพันธ์ อินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มได้เป็นสัดส่วน 42.4% ของปริมาณผลผลิต CSPO ของโลกทั้งหมด เปรียบเทียบกับผลผลิตของมาเลเซียที่ผลิตได้ 47.3%

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว RSPO ได้ตรวจสอบและรับรองสวนปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงผู้ปลูกปาล์มรายย่อย (plasma grower) ไปแล้วเป็นจำนวนหลายแห่ง ในอนาคตจึงเชื่อว่าผลผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศจะเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้เพาะปลูกท้องถิ่นจำนวน 18 รายเข้าร่วมเป็นผู้ผลิตที่ผ่านการรับรอง คิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้เพาะปลูกทั้งหมดจำนวน 35 รายที่ได้รับการรับรอง

ก่อนหน้านี้ องค์กรดังกล่าวได้ประมาณว่า ยอดผลผลิต CSPO ของอินโดนีเซียจะพุ่งขึ้นมากกว่า 50% เป็น 3.5 ล้านตัน ในขณะที่สัดส่วนผลผลิต CSPO ของประเทศต่อผลผลิต CSPO โลกจะเพิ่มขึ้น 9% กลายเป็น 50%

ผลการคาดการณ์ของสมาคมผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอินโดนีเซีย (GAPKI) ชี้ว่า ผลผลิตน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียจะเติบโตขึ้น 6.4% เป็น 25 ล้านเมตริกตันในปีนี้

นางเดสิยังกล่าวอีกว่า ในการกระตุ้นผลผลิต CSPO นั้น พบว่าความท้าทายในระยะสั้นจะเป็นเรื่องการนำผู้เพาะปลูกอิสระและผู้เพาะปลูกรายย่อยเข้ามาในกระบวนการรับรอง โดยจากข้อมูลของทางราชการ พบว่าราว 42% ของผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียเป็นผู้เพาะปลูกรายย่อย

ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนกลายเป็นประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันปาล์มท้องถิ่น เนื่องจากปัจจุบันผู้ซื้อรายใหญ่ตั้งข้อกำหนดด้านมาตรฐานสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ