นายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเชื้อเพลิง เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมเพื่อบริหารความเสี่ยงจากกรณีก๊าซพม่าจะหยุดส่งในวันที่ 8-17 เม.ย.55 ว่า ได้ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาร่วมกันว่าจะดึงก๊าซจากอ่าวไทยมาทดแทนได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งล่าสุดมาเลเซียได้ให้ความร่วมมือต่อประเทศไทยในส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาพี้นที่ร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) มาให้เพิ่มในวันที่ 8-18 เม.ย.นี้อีก 50 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากปกติที่ไทยได้รับก๊าซจากเจดีเอ 420 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
ในขณะที่ก๊าซบงกชใต้จะจัดส่งเพิ่มอีก 50 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งทำให้สามารถลดการใช้น้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซพม่าลงได้ส่วนหนึ่ง และทำให้กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที) ในเดือนต.ค.ลดลงเหลือ 5 สต./หน่วย จากเดิมที่หากไม่มีก๊าซฯจาก 2 แหล่งเข้ามาต้องใช้น้ำมันทดแทนทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเอฟทีถึง 10 สต./หน่วย
นายณอคุณ กล่าวว่า การที่ก๊าซพม่าหยุดส่ง เหตุจากการปิดซ่อมบำรุงของแหล่งเยตากุนจึงทำให้ก๊าซพม่าจากแหล่งยาดานาไม่สามารถจัดส่งได้ด้วย ซึ่งก๊าซพม่าต้องหยุดส่งทั้งหมดรวม 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โรงไฟฟ้าของไทยต้องหยุดถึง 5,000 เมกะวัตต์ ต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจากน้ำมันเตา-ดีเซลทดแทน จึงได้ขอให้บางจากหยุดส่งออกน้ำมันเตาให้นำมาใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าในประเทศ หากไม่เพียงพอก็ต้องนำเข้าน้ำมันกำมันถันต่ำ 0.5% เข้ามาใช้
นายณอคุณ กล่าวว่า ภาวะก๊าซฯพม่าหยุดส่งนับเป็นภาวะวิกฤติด้านพลังงานของประเทศ เพราะสำรองไฟฟ้าลดลงจาก 20% เหลือ 5% ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงเห็นว่าน่าจะใช้วิกฤตินี้รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันลดการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะจัดรณรงค์ใหญ่ให้ดับไฟหรือปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในช่วงบ่ายของวันที่ 10 เม.ย.นี้ ซึ่งเตรียมเชิญ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีรณรงค์ โดยสาเหตุที่รณรงค์ให้ดับไฟช่วงบ่ายเนื่องจากพีคหรือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศจะเกิดขึ้นเวลาประมาณ 14.00 น.
อนึ่ง โครงการนี้เคยรณรงค์มาแล้วในปี 48 ซึ่งครั้งนั้นสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 300-400 เมกะวัตต์ และการรณรงค์ประหยัดพลังงานจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยในญี่ปุ่นซึ่งเกิดปัญวิกฤตินิวเคลียร์ทำให้ชาวบ้านได้ร่วมใจกันลดการใช้พลังงาน 25-30%