ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกยางพาราตามโครงการปลูกยางพารา 800,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันยังเหลือพื้นที่ที่ต้องเพาะปลูกอยู่อีก 656,500 ไร่
ในที่ประชุมฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งข้อสังเกตว่า การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกจะต้องระมัดระวังการเข้าไปทับซ้อนพื้นที่ของป่าไม้ และเขตป่าสงวน ซึ่งการจะเข้าไปดำเนินการได้นั้นเกษตรกรจะต้องมีเอกสารสิทธิ์การใช้ที่ดินทำกินด้วย ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เห็นว่า การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกยังต้องคำนึงถึงผลผลิตที่จะออกมาในปริมาณสูงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกลไกราคายางในตลาดด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยางพาราแห่งชาติ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมารฯ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอกชน รัฐวิสาหกิจ และตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมปรึกษา ในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ(เวิร์คช็อป) โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้ในการส่งออกยางพาราให้ได้ 1 ล้านล้านบาท/ปี ในปี 56 จากปัจจุบันมีรายได้ประมาณ 680,000 ล้านบาท/ปี
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้เสนอให้ที่ประชุมฯ พิจารณามาตรการจูงใจให้กับเกษตรการที่โค่นต้นยางพาราที่มีอายุเกิน 30 ปี เพื่อทำการปลูกยางใหม่ โดยให้ ส.ก.ย.จัดสรรวงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยการโค่นต้นยางตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.54-30 ก.ย.55 เพิ่มเติมอีก 10,000 บาท/ไร่ จากเดิมที่ได้รับเงินชดเชย 16,000 บาท/ไร่ โดยตั้งเป้าหมายการโค่นต้นยางให้ได้ 500,000 ไร่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยรักษาเสถียรภาพของยางพาราในประเทศให้มีราคาสูงขึ้น
"ตอนนี้ผลผลิตยางของประเทศมีปริมาณสูง โดยเฉลี่ยมีผลผลิตอยู่ที่ 3.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่สต๊อกยางพาราโลกมีอยู่เพียง 1.1 ล้านตันเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องรณรงค์ให้เกษตรกรโค่นยางเพื่อปลูกยางใหม่ เพราะเฉลี่ยปัจจุบันเกษตรกรจะโค่นยางเพียง 200,000 ไร่ต่อปีเท่านั้น และเมื่อโค่นแล้ว ส.ก.ย.จะอุดหนุนเงินให้ แต่ครั้งนี้เราจะเพิ่มให้เป็นพิเศษ โดยตั้งเป้าหมายให้ราคายางสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันราคายางจะอยู่ที่ 108-112 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น" นายณัฐวุฒิ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบเรื่องดังกล่าวในหลักการเท่านั้น โดยขอให้กระทรวงเกษตรฯ นำเรื่องกลับไปพิจารณาใหม่