นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท.ใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการซึ่งมีความยืดหยุ่นตามกลไกตลาด ยกเว้นในช่วงที่เงินบาทแข็งหรืออ่อนค่าผันผวนรุนแรงโดยไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน ธปท.จะเข้าไปดูแล ส่วนตัวจึงเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่มีความยืดหยุ่นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนของภาคธุรกิจแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ปัจจุบันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 30 บาท/ดอลลาร์ ดังนั้นหากเงินบาทอ่อนค่าลงที่ 33 บาท/ดอลลาร์ จะมีแรงเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทจากต่างชาติ ทำให้เกิดดุลยภาพเทียม เม็ดเงินจากต่างชาติจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น ยิ่งกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นภาระที่ ธปท.ต้องเข้าไปดูดซับดอลลาร์สหรัฐเพื่อปล่อยเงินบาทเข้าในระบบ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องออกพันธบัตรดูดสภาพคล่องเงินบาทด้วย
อีกทั้งหากเงินบาทอ่อนค่าจะทำให้ไทยนำเข้าน้ำมันราคาแพงขึ้น ดังนั้นถ้าหวังจะให้ ธปท.ใช้นโยบายเคลื่อนย้ายเงินทุน นโยบายดอกเบี้ย และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนพร้อมกันทั้ง 3 นโยบายจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ในทางกลับกันจะเกิดผลเสียด้วยซ้ำ เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
นายประสาร กล่าวอีกว่า แนวคิดที่ต้องการให้ไทยขาดดุลเดินบัญชีเดินสะพัด ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงนั้น มองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่เครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางการเงิน แต่การขาดดุลหรือเกินดุลเป็นผลจากการค้าขายและภาคบริการระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็ถือเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว สะท้อนถึงความมั่งมี จึงควรใช้ประโยชน์จากการเกินดุลด้วยการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น