กสิกรฯเชื่อการผลิต-ส่งออกเริ่มฟื้นตัวในมี.ค. แต่ต้องจับตาน้ำมัน-ศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 28, 2012 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกของไทยในเดือนก.พ.55 สะท้อนภาพการเร่งฟื้นตัวเร็วกว่าที่หลายฝ่ายได้ประเมินไว้ ซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่เพิ่มเติมเข้ามาในช่วงต้นปี 55 ภายหลังจากผ่านวิกฤติน้ำท่วม

โดยในภาคอุตสาหกรรมนั้น สัญญาณเชิงบวกสะท้อนได้จากภาพรวมของการผลิตที่เร่งตัวจากเดือนก่อนหน้า 9% และหดตัวในอัตราที่น้อยลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ 3.4% อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในระดับอุตสาหกรรมแล้วยังคงพบว่าสัญญาณการฟื้นตัวหลังน้ำลดในแต่ละอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน โดยการผลิตยานยนต์ให้ภาพการเร่งฟื้นสายการผลิตได้อย่างชัดเจน แตกต่างจากกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ, อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังคงต้องการเวลาในการฟื้นตัวอีกระยะ

ส่วนการส่งออกนั้น สะท้อนภาพการพลิกกลับมาขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.9% แต่ถ้าเป็นกรณีที่หักการส่งออกทองคำ จะนับเป็นการกลับเข้าสู่เส้นทางการขยายตัวที่เร็วกว่าที่ประเมินไว้ โดยอาจได้รับอานิสงส์จากสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีเสถียรภาพอย่างน้อยในระยะสั้น นำโดยสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการทยอยฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย หลังจากที่สามารถกลับมาผลิตได้ใกล้เคียงกับระดับปกติ

"คาดว่าเส้นทางการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.55 น่าที่จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มกำลังการผลิตที่ทำได้อย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจโลกยังไม่มีภาพในเชิงลบที่มีนัยสำคัญมากนักในระหว่างเดือน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ดี เมื่อประกอบภาพทิศทางที่ดีขึ้นของภาคการผลิต ตลอดจนการทยอยอ่อนค่าของเงินบาทและการทรงตัวในระดับสูงของราคาน้ำมันในตลาดโลกในระหว่างเดือนมี.ค. อาจทำให้สถานการณ์ดุลการค้าของไทยมีความอ่อนไหวค่อนข้างมากต่อภาวะขาดดุล แต่อีกด้านหนึ่งของสถานการณ์ดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่า ภาคการผลิต-การส่งออก และเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอาจกำลังเตรียมกลับเข้าสู่เส้นทางการขยายตัวอีกครั้ง

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 1/55 จะลดลงมาเหลือเพียง 5% และการส่งออกในไตรมาสที่ 1/55 จะหดตัวลงมาเหลือเพียง 0.5% ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการหดตัวที่รุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 4/54 และเมื่อมองไปในระยะข้างหน้า คาดว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยน่าที่จะยังคงได้รับแรงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากโมเมนตัมการฟื้นตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่จะทยอยเกิดขึ้นตามมาในระหว่างไตรมาสที่ 2/55 ซึ่งก็จะยิ่งเพิ่มแรงหนุนต่อการขยายตัวของการส่งออกในช่วงกลางปี 55

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงหลังจากนั้น อาจต้องเผชิญกับโจทย์ที่รอท้าทายในระยะที่เหลือของปี เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังคงยากจะหาจุดสิ้นสุด ตลอดจนทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ยังมีโอกาสทรงตัวอยู่ในระดับสูงซึ่งจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งเส้นทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ