ก.เกษตรฯชู 8 แนวทางพัฒนาศักยภาพภาคการเกษตรไทยรองรับการเกิด AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 29, 2012 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาคการเกษตรไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ภายหลังเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีแนวทางที่จะดำเนินการหรือมีมาตรการในหลายเรื่อง ประกอบด้วย 1. การสร้างความตระหนักรู้ การปรับตัว และทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ของเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการแปรรูปผู้ส่งออกและนำเข้า ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง

2. การประสานความร่วมมือเพื่อกำหนดเงื่อนไข มาตรการสุขอนามัยพืชและสุขอนามัยสัตว์ หรือข้อกำหนดความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อให้สินค้าที่จะซื้อขาย นำเข้า ส่งออก มีมาตรฐานเดียวกัน ภายใต้ระบบการควบคุม ตรวจสอบและรับรองเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาวะของผู้บริโภคในประชาคมอาเซียน

3. การเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปริมาณงานตรวจสอบรับรองคุณภาพที่เพิ่มขึ้นตาม เช่น ระบบการตรวจสอบรับรอง ด่านควบคุมการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตร เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการควบคุมการนำเข้าส่งออก ห้องปฏิบัติการตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้า รวมทั้งระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และระบบการขนส่งสินค้าเกษตร ซึ่งจะต้องเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพแล้วยังต้องมีมาตรฐานการบริการและมาตรฐานการรับรองที่เป็นสากลอีกด้วย

4. การเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในระบบความปลอดภัยด้านอาหาร โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะต้องมีทักษะในด้านการให้บริการที่มีมาตรฐาน มีความรู้ทางวิชาการเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร และเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่อุปทาน (Logistics) และที่สำคัญของมีความรู้ในด้านภาษาต่างประเทศ ในปริมาณที่เพียงพอต่อปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น

5. การพัฒนาคุณภาพ ศักยภาพ และเสริมสร้างวิสัยทัศน์ของเกษตรกรภายในประเทศ เพื่อการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่ม และการก้าวไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารขึ้นที่สอง (สินค้ากลางน้ำ) และสินค้าขั้นสุดท้าย (ปลายน้ำ) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง การเตรียมองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อถ่ายทอดสู่เกษตรกร สร้างช่องทางและโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและมีต้นทุนที่ลดลงโดยเปรียบเทียบ ซึ่งจะต้องมีระบบการส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเกษตรกร หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละกลุ่ม โดยความร่วมมือเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา/สถาบันทางวิชาการต่างๆ

6. การเพิ่มศักยภาพสหกรณ์การเกษตรที่มีการรวบรวมสินค้าเกษตรและส่งออกเดิมอยู่แล้ว รวมทั้งพัฒนาสหกรณ์การเกษตรที่มีขีดความสามารถในการพัฒนา ให้เป็นหน่วยธุรกิจที่จะเข้าสู่ตลาดอาเซียนเป็นกลุ่มแรกๆ เมื่อเปิดตลาด รวมทั้งการศึกษาเรียนรู้วิธีการทำธุรกิจของแต่ละประเทศเพื่อที่จะสร้างความพึงพอใจร่วมกันและขยายปริมาณการค้าสินค้าเกษตรของไทย

7. การเตรียมศึกษาวัฒนธรรมพฤติกรรมการผลิตและบริโภค ของผู้บริโภคในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อจะนำข้อมูลมาปรับปรุงสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงการทำการตลาดให้ผู้บริโภคในตลาดอาเซียนเข้าใจและพึงพอใจที่จะเลือกซื้อสินค้าเกษตรของไทย

8. ระดับผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตร รวมทั้งผู้ส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตร จะต้องมีความร่วมมือในการยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย ให้เป็นผู้นำในภูมิภาคโดยการมีเป้าหมายที่จะมุ่งไปสู่การผลิตด้วยเทคโนโลยีสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ