Analysis: ดัชนี CPI ที่ขยายตัวขึ้นนับเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงเจ้าหน้าที่จีน

ข่าวบันเทิง Thursday March 29, 2012 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้บริโภคจีนกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น หลังจากที่ราคาหอมหัวใหญ่ได้ถีบตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในช่วงระยะเวลา 3 เดือน

ข้อมูลราคาสินค้าในตลาด Xinfadi ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งรายใหญ่ที่สุดในปักกิ่ง บ่งชี้ว่า ราคาค้าส่งพืชผักถีบตัวขึ้น 20% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 2.9 หยวน (0.46 ดอลลาร์) ต่อกิโลในเดือนมีนาคม

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหอมหัวใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องปรุงหลักในอาหารจีน ตามการดีดตัวของราคากระเทียมและขิงในปีที่แล้วนั้น ได้ทำให้เกิดการตื่นตัวในหลายหน่วยงานของประเทศ เนื่องจากหอมหัวใหญ่ 2 หัวมีราคาถึง 10 หยวน หรือเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากปีก่อน

ประชาชนที่มีงบจำกัดต้องเลือกซื้อผักชนิดอื่นแทนหอมหัวใหญ่ ในขณะที่เจ้าของร้านอาหารเลือกที่จะผลักดันราคาต้นทุนไปยังลูกค้า

หวัง เหยา วิศวกรวัย 30 ปีในเมืองจี๋หนาน ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลชานตงในภาคตะวันออกของจีนกล่าวว่า "ข้าวไข่เจียวใส่หอมหัวใหญ่ที่ร้านอาหารแถวบ้านผมปรับเพิ่มราคาขึ้นอีก 2 หยวน"

ด้านซู เหลียนหง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และคาดการณ์ของสำนักงานเพื่อการพัฒนาและปฏิรุปแห่งชาติ ชี้ว่า สาเหตุที่ราคาผักได้พุ่งขึ้นเป็นระลอกๆ เกิดจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น

"สภาพอากาศที่มีหิมะตกหนักส่งผลให้อุปทานผักต้องสะดุดลง และผลักดันให้ราคาขยับขึ้น และหากสภาพอากาศอบอุ่นขึ้น ราคาผักก็จะปรับตัวลง"

ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของจีนจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาในระยะนี้ก็ได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดเป้าหมายสูงสุดของอัตราเงินเฟ้อเอาไว้ที่ 4%

สภาแห่งรัฐ หรือคณะรัฐมนตรีของจีน ได้กล่าวย้ำในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลควรส่งเสริมการผลิตและรับประกันอุปทานเพื่อป้องกันดัชนีราคาผู้บริโภคขยับขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาอาหาร

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ของจีน ปรับตัวลดลง 3.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ในขณะที่ดัชนีเงินเฟ้อในหมวดอาหารอยู่ที่ 6.2% ในเดือนดังกล่าว แต่ยังต่ำกว่าระดับ 14.8% ซึ่งเป็นระดับสุงสุดในเดือนกรกฎาคมเป็นอย่างมาก

เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ราคาอาหารดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนต้องแก้ปัญหาวัฏจักรการขึ้น-ลงอย่างผันผวนที่มีมาอย่างยาวนานในภาคการเกษตร

ในกรณีหอมหัวใหญ่ เกษตรกรได้ลดการปลูกหอมลงหลังจากที่ราคาตกต่ำในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลกันในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้

ชู เซียวเหล่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไชน่า แกแล็กซี่ ซิเคียวริตี้ส์ กล่าวว่า "รัฐบาลจีนต้องพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับทั้งประเทศ เพื่อให้เกษตรกรได้รับข้อมูลตลาดที่ถูกต้อง ดังนั้นเกษตรกรจะสามารถตัดสินใจได้ว่า ควรปลูกอะไรเมื่อไหร่ ในขณะที่ตลาดสามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุปสงค์-อุปทาน"

จ้าว ปิง รองผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยผู้บริโภคในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ของจีนแนะนำให้ปรับลดต้นทุนลอจิสติกส์ลง รวมทั้งปรับลดปริมาณเงินสดหมุนเวียนที่ไม่จำเป็นลง เพื่อสร้างเสถียรภาพของราคาผู้บริโภค

บทวิเคราะห์โดย สำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ