นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอและให้สั่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้ 1. กำหนดให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอรังวัดต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายที่ดินแทนเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้ (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8)
2. กำหนดให้การขอขยายระยะเวลาในการพิจารณากำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนให้ขยายออกไปอีกได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน (ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 9 วรรคห้า)
3. กำหนดให้ผู้มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนจากคณะรัฐมนตรีเป็นรัฐมนตรี (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง)
4. กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่เหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้ และกำหนดระยะเวลาการพิจารณาคำร้องของเจ้าหน้าที่ (ร่างมาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19 วรรคหนึ่ง)
5. กำหนดหลักเกณฑ์การร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือและใช้การไม่ได้ตลอดจนกำหนดระยะเวลาการยื่นคำร้องและกำหนดสิทธิอุทธรณ์ (ร่างมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 20)
6. กำหนดขยายระยะเวลาการวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีจากหกสิบวันเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน (ร่างมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25 วรรคสอง)
7. กำหนดสิทธิฟ้องคดีต่อศาลให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26)
8. กำหนดให้รัฐคืนอสังหาริมทรัพย์ให้เจ้าของเดิมหรือทายาท ในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนภายในระยะเวลาที่กำหนดในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ หรือในกรณีที่รัฐไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนอีกต่อไป (ร่างมาตรา 10 เพิ่มหมวด 3/1 การคืนอสังหาริมทรัพย์ให้เจ้าของเดิมหรือทายาท มาตรา 32/1 มาตรา 32/2 มาตรา 32/3 มาตรา 32/4 มาตรา 32/5 และมาตรา 32/6)