นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านการขนส่งทางอากาศของไทยศึกษาปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)ในปี 58 รวมทั้งให้ความสำคัญเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมการบิน โดยไทยจะต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 และการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อลดปัญหาความแออัดของสนามบิน
นอกจากนั้น ยังต้องเพิ่มการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานดอนเมืองให้มากขึ้น โดยสามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้สูงสุดถึงวันละ 300 เที่ยวบิน จากปัจจุบันที่มีเที่ยวบินขึ้น-ลงวันละ 120 เที่ยว ขณะเดียวกันยังต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับการเข้าสู่ AEC ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.บ.เดินอากาศไทย พ.ศ.2497 ยังมีข้อกำหนดที่อาจเป็นการกีดกัน เช่น การกำหนดผู้ถือหุ้นธุรกิจการบินต้องเป็นคนไทยสัดส่วน 51%
ว่าที่เรืออากาศโทอนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) หรือทอท. กล่าวว่า ขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างเจรจากับสายการบิน 2-3 แห่ง เพื่อขอให้สายการบินมาทำการบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการเจรจาได้ และคาดว่าจะมีข้อสรุปในเร็วๆ นี้
ด้านนายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าวถึงมาตรการของกลุ่มสหภาพยุโรป(EU) ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอนจากสายการบินว่า มีความเป็นไปได้ที่ EU จะเลื่อนกำหนดการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวออกไปก่อน จากเดิมจะเริ่มเก็บในวันที่ 1 ม.ค.56 แต่คงไม่ยกเลิก เนื่องจากหลายประเทศคัดค้านมาตรการดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทยก็ได้ทำหนังสือแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว รวมทั้งได้ร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนคัดค้านด้วย โดยเห็นว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการกีดกันทางการค้า