นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อให้มีการรวมอำนาจการบริหารจัดการของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง, องค์การสวนยาง, สุถาบันวิจัยยาง ให้มาอยู่ภายใต้การจัดการขององค์กรเดียว เพื่อให้การกำหนดนโยบายมีเอกภาพ
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ..... คือ 1. ให้ยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์กรทำสวนยาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2505 พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2518 พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2530 พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การสวนยาง พ.ศ. 2504 พ.ร.ฎ.การจัดตั้งองค์การสวนยาง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2508 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 114 ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2515 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การสวนยาง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535
นอกจากนี้ กำหนดให้จัดตั้ง“การยางแห่งประเทศไทย" (กยท.) และกำหนดให้ กยท. เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร บริหารจัดการเกี่ยวกับการเงินกองทุนพัฒนายางพารา ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นต้น
พร้อมทั้งกำหนดที่มาของทุนของ กยท. และรายได้ของ กยท. รวมทั้งกำหนดให้รายได้ที่ กยท. ได้รับจากการดำเนินงานให้ตกเป็นของ กยท. สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ และรายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและภาระต่าง ๆ แล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ และถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายและค่าภาระต่างๆ นอกจากเงินสำรอง และเงินโบนัสหรือเงินรางวัล และกยท. ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่ กยท. เท่าจำนวนที่ขาด (ร่างมาตรา 11- ร่างมาตรา 13)
กำหนดให้มี “คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย" ประกอบด้วย ประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทน กษ. ผู้แทนสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนสำนักงบประมาณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนห้าคน และผู้ว่าการเป็นกรรมการและเลขานุการ กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒฺมีวาระคราวละสามปี และกำหนดให้ผู้ว่าการมีวาระในตำแหน่างคราวละไม่เกินสี่ปี กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ เช่น วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ กยท. แต่งตั้งและกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ว่าการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เป็นต้น (ร่างมาตรา 17 — ถึงร่างมาตรา 35)
กำหนดให้เกษตรกรชาวสวนยางซึ่งประสงค์จะขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนต่อ กยท. ตามแบบและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และในกรณีที่ผู้ขอรับการส่งเสริมให้มีการปลูกแทนเป็นผู้ทำสวนยางในที่ดินที่ตนเช่าหรืออาศัยบุคคลอื่น ผู้ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนต้องแสดงต่อ กยท. ว่าผู้ให้เช่าหรือผู้ให้อาศัยได้ให้ความยินยอมในการที่ตนขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด เป็นต้น (ร่างมาตรา 36-ร่างมาตรา 42)
นอกจากนี้ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นใน กยท. เรียกว่า “กองทุนพัฒนายางพารา" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพารา (ร่างมาตรา 43- ร่างมาตรา 46), กำหนดให้บุคคลซึ่งส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ กยท. และให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า และในกรณีที่มีความจำเป็นรัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่บุคคลดังกล่าวก็ได้ (ร่างมาตรา 47 — ร่างมาตรา 48)
บทเฉพาะกาล กำหนดให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ภาระผูกพันและงบประมาณของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 และขององค์การสวนยางตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนยาง พ.ศ. 2504 ไปเป็นของ กยท. (ร่างมาตรา 67- ร่างมาตรา 68) , ให้พนักงานและลูกจ้างของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางตามพระราชบัญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 และพนักงานและลูกจ้างขององค์การสวนยางตามพระราชกฤษฎีจัดตั้งองค์การสวนยาง พ.ศ. 2504 เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ กยท. (ร่างมาตรา 69)
รวมทั้งกำหนดให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ภาระผูกพัน และงบประมาณของกรมวิชาการเกษตร เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชการของสถาบันวิจัยยาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการยางอื่น ๆ ไปเป็นของ กยท. (ร่างมาตรา 70)
กำหนดให้ในวาระเริ่มแรก ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ว่าการตามพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการตามมาตรา 17 (2) โดยให้ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 17 (1) และ (3) (ร่างมาตรา 74 — ร่างมาตรา 75)