ม.หอการค้า เผยหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นตามค่าครองชีพ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 29, 2012 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยปี 55 หนี้ครัวเรือนขยับขึ้นตามค่าครองชีพส่งผลให้ประชาชนบางส่วนต้องกู้เงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัว แนะรัฐลดภาระราคาสินค้าด้วยการหาสินค้าทางเลือกให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

"จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าหนี้ภาคครัวเรือนยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ห่วงเศรษฐกิจประเทศจะไม่ฟื้นมากกว่า ส่วนระยะยาวห่วงว่าจะเกิดปัญหาหนี้สาธารณะต่อสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ดังนั้นภาครัฐจึงต้องระมัดระวังในการใช้เงิน เพราะการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปถึง 51% ของจีดีพี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 41% ของจีดีพี และห่วงว่าจะเกิดปัญหาว่างงานตามมา" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าว

โดยผลสำรวจภาวะหนี้ภาคครัวเรือนจากกลุ่มตัวอย่างประชาชน 1,237 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-26 มี.ค.55 พบว่า จำนวนหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนในปี 55 อยู่ที่ 168,517 บาทต่อครัวเรือน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.7% จากปีก่อนที่ระดับ 159,432 บาทต่อครัวเรือน แต่กลับมีความสามารถผ่อนชำระเฉลี่ย 10,978 บาทต่อเดือน โดยกลุ่มตัวอย่าง 79.8 % ระบุว่ามีปัญหาในการชำระหนี้ ส่วน 46.4% ระบุอาจก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า ภาระหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่มาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเป็นการใช้จ่ายทั่วไป 60.2% ราคาสินค้าที่แพงขึ้น 18.5% และมองว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้น จึงยังไม่เชื่อมั่นในการบริโภค ทำให้การออมของภาคครัวเรือนลดลง และมีแนวโน้มหันไปก่อนหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน

สำหรับทัศนะต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้นจะมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ 3.5-5 ล้านคน ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,800 บาทต่อคนต่อเดือน หรือมีเงินสะพัดในระบบ 7,000-9,000 ล้านบาท มีผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้นเพียง 0.05-0.07% เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะสามารถลดปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้นได้ ซึ่งภาครัฐจะต้องดูแลค่าครองชีพให้ลดลง ผ่านโครงการสินค้าราคาถูก หรือหาสินค้าทางเลือกให้กับกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึง โดยไม่เข้าไปแทรกแซงจนกลไกตลาดบิดเบือน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจะเห็นการย้ายฐานไปลงทุนในต่างประเทศ การจ้างงานชะลอตัวลง เพราะผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรแทน ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ