รมว.คลังอาเซียนมั่นใจศก.ภูมิภาคแกร่ง แต่จับตา EU-น้ำมัน-ทุนเคลื่อนย้าย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 30, 2012 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 29-30 มี.ค.55 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุนเซนได้เป็นประธานในพิธีเปิด ได้ย้ำถึงความสำคัญของการลดช่องว่างของการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกอาเซียน ความสำคัญของการรวมตัวทางการเงินการคลังของอาเซียนต่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 และการเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก

การประชุม AFMM ครั้งที่ 16 ซึ่งมีนาย Keat Chhon รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังกัมพูชา เป็นประธาน ได้ร่วมกันหารือถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านต่างๆ ภายใต้ AEC ที่เกี่ยวข้องกับกรอบการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนตลอดช่วงปีที่ผ่านมา และประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ดังนี้

1.รัฐมนตรีคลังอาเซียนมั่นใจในความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนในปี 55 ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จากแรงสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศ ภาคการเงินการธนาคารและพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจยุโรปและความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งอาเซียนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

โดยเลขาธิการอาเซียนได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า อาเซียนจะมีความสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้อาเซียนต้องมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกัน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกันต่อไปในอนาคต

2.ที่ประชุมได้หารือร่วมกับประธานการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนปีที่แล้ว ปีปัจจุบัน และปีหน้า(Troika) และได้เห็นพ้องที่จะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคการเงิน เพื่อรองรับความท้าทายต่างๆ

รวมทั้งได้ร่วมหารือกับธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำให้องค์กรการเงินระหว่างประเทศต่างๆ ดังกล่าวดำเนินโครงการและความช่วยเหลือต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป

3.ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ได้ลงนามในเอกสารแนบท้ายความตกลงของผู้ถือหุ้นในกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) เพื่อให้ไทยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ และ ADB โดยไทยจะร่วมลงทุนในกองทุนนี้เป็นเงิน 15 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกองทุน AIF จะป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงของอาเซียน (ASEAN Connectivity) ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในอนาคตไทยจะได้รับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังของไทย ยังได้ร่วมลงนามในความตกลงด้านศุลกากรอาเซียน (ASEAN Agreement on Customs) ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านศุลกากรและเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกด้านการเคลื่อนย้ายสินค้า เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันให้กับการพัฒนาไปสู่ AEC ในปี 2558

4.รัฐมนตรีคลังอาเซียนยังได้หารือถึงความคืบหน้าของแผนการรวมตัวด้านการเงินการคลัง (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN) ซึ่งมีความสำคัญในการสนับสนุนการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมภายใต้ AEC และได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือด้านการเงินการคลังในด้านต่างๆ ได้แก่ การประกันภัย ศุลกากร การต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และความร่วมมือด้านภาษี

5. เพื่อเป็นการกำหนดท่าทีของอาเซียนสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ค.55 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ซึ่งการกำหนดท่าทีดังกล่าวที่ประชุมมั่นใจว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาคมโลกว่าอาเซียนมีกลไกที่แข็งแกร่งและเพียงพอในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาดุลการชำระเงิน โดยขนาดของ CMIM จะขยายเพิ่มขึ้นและกลไกในการทำงานเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN Macroeconomic Monitoring Office: AMRO) ในการทำหน้าที่ระวังภัยทางเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน+3 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการทบทวนกรอบการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมทางการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ดี การประชุม AFMM ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ในช่วงต้นเดือนเม.ย.56


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ