(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมี.ค.ที่ 66.5 จาก 65.5ในก.พ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 2, 2012 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน มี.ค.55 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 67.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.55 ที่ 65.5

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 67.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 95.9

สำหรับปัจจัยบวกในเดือนนี้ ได้แก่ การที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการลดค่าครองชีพวงเงิน 1,620 ล้านบาท, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.00%, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ปรับคาดการณ์ GDP ปี 55 เพิ่มขึ้นเป็น 5.5% จากเดิมคาด 5.00% และค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ และยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และกังวลสถานการณ์ทางการเมือง

"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และปรับตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า ผู้บริโภคยังมีความหวังว่าภาวะเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท แต่ยังมีความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพสูงและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ

ทั้งนี้คาดว่า การบริโภคของประชาชนจะชะลอตัวลงตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงกลางไตรมาสที่สองของปีนี้ เนื่องจากความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 ค่าครองชีพที่ทรงตัวในระดับสูง ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ และนโยบายการเงินผ่านการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกของปีนี้จะมีส่วนช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยจะเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายของประชาชนกลับมาฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาสที่สองของปีนี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ การเร่งรัดการเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมจะช่วยทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นกลับมาพื้นตัวได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเข้าไปดูแลเรื่องราคาพลังงานและค่าครองชีพให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับรายได้ของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก โดยคาดว่า GDP ปีนี้ยังมีโอกาสขยายตัวได้ 5.5-6.5%

"ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะหักหัวลงจากขาขึ้น เพียงแต่ประชาชนเป็นห่วงในเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ภาวะทางการเมืองที่ยังอยู่ในความสับสน" นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้นั้น นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จะส่งผลลบในระยะสั้นเท่านั้น ไม่มีผลต่อภาพรวมความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่อาจมีผลในรายภูมิภาค โดยเฉพาะภาคใต้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ