นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะที่ 2 (ปี 2552 — 2556) ว่า โครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมบูรณาการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพเฉพาะด้านสหรับผลิตสินค้าจำเพาะ (Unique Product) เพื่อการส่งออก โดยมีการดำเนินงานในทุกมิติด้านการผลิตจนถึงการตลาด มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิตให้เหมาะสมต่อการผลิตข้าวหอมมะลิ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และประสิทธิภาพการตลาดข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้ พื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร ซึ่งจากผลสรุปของการดำเนินงานในระยะที่ 1 (2548-2551) ที่ผ่านมาพบว่า ทุกหน่วยงานได้เข้าไปดำเนินกิจกรรมด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต เช่น ระบบชลประทานเพื่อแจกจ่ายน้ำเข้าพื้นที่ตามความเหมาะสม การปรับปรุงโครงสร้างและการบำรุงดิน การบริหารจัดการด้านการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับความเข้มแข็งขององค์การ รวมถึงการพัฒนาสหกรณ์ด้านการทำตลาดข้าวหอมมะลิและการสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละส่วนของแต่ละพื้นที่ดังกล่าว ทำให้การบูรณาการทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร นายนิวัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ ระยะที่ 2 (ปี 2552 — 2556) จะเป็นการทำงานในรูปแบบการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างจำเพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น โดยขอให้ฝ่ายเลขานุการนำบทสรุปของผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาในระดับหน่วยย่อย ซึ่งอาจเป็นระดับหมู่บ้านหรือระดับตำบล แล้วส่งมอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ กรมการข้าว กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ สมาคมชาวนาไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมค้าข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อนำไปวิเคราะห์ช่องว่างของกิจจกรมที่ยังไม่ได้ดำเนินการในแต่ละพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลักดันให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิของทุ่งกุลาร้องไห้เป็นข้าวคุณภาพชั้นเลิศในตลาดโลก และเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานของโครงการต่อไป สำหรับสถานการณ์ข้าวไทยในปี 2554 มีการส่งออกข้าวเบื้องต้นประมาณ 10.7 ล้านตัน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มูลค่าประมาณ 196,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 16 ในขณะที่ราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 595 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 0.7 โดยเป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 (ม.ค. — มิ.ย.) ประมาณ 2.36 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 63,000 ล้านบาท
ส่วนสถานการณ์ข้าวไทยในปีการผลิต 2554/55 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประมาณการว่าผลผลิตข้าวมีประมาณ 31 ล้านตัน แยกเป็นข้าวนาปี 20 ล้านตัน ข้าวนาปรัง 11 ล้านตัน ผลผลิตข้าวนาปีลดลงเนื่องจากเกิดปัญหาอุทกภัย แต่ผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญ และน้ำตามธรรมชาติมีปริมาณมากเพียงพอ ประกอบกับชาวนาบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม