(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย มี.ค.55 CPI ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.45%,Core CPI เพิ่มขึ้น 2.77%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 3, 2012 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน มี.ค.55 อยู่ที่ 114.30 เพิ่มขึ้น 3.45% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.59% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.55 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยไตรมาสแรกของปีนี้(ม.ค.-มี.ค.55) เพิ่มขึ้น 3.39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ(Core CPI) เดือน มี.ค.55 อยู่ที่ 107.73 เพิ่มขึ้น 2.77% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.33% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.55 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ยไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 2.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน มี.ค.55 อยู่ที่ 136.57 เพิ่มขึ้น 7.07% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.66% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.55

ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน มี.ค.55 อยู่ที่ 101.42 เพิ่มขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.55% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.55

"ดัชนีราคาผู้บริโภคโดยเฉลี่ยสูงขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและขนส่ง จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก และการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ตามนโยบายรัฐบาล" นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน มี.ค.55 ที่สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.45% มาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น โดยดัชนีที่ปรับขึ้น ได้แก่ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 2.55% เนื้อสัตว์ปีกและสัตว์น้ำ สูงขึ้น 3.75% ผักและผลไม้ สูงขึ้น 10.41% อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น 9.33%

ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ช่อาหารเครื่องดื่ม หมวดเคหะสถาน สูงขึ้น 2.28% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 1.12% หมวดพาหนะขนส่งและสื่อสารสูงขึ้น 0.63%

ในขณะที่ CPI เดือน มี.ค.55 เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.55 สูงขึ้น 0.59% เป็นเพราะการสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสุงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและการขนส่ง โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำประปา ยานพาหนะ และ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ขณะที่สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ และเครื่องปรุงรส มีราคาลดลงตามภาวะตลาด

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 55 จะยังอยู่ในกรอบไม่เกิน 3.3-3.8% แม้ว่าปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้จะยังอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ระดับราคาไม่เกิน 95-115 เหรียญ สรอ./บาร์เรล ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี คาดอยู่ในช่วง 29-33 บาท/ดอลลาร์ ประกอบกับสมมติฐานที่ว่า รัฐบาลยังคงมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน

ส่วนสถานการณ์การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าจะมีผลต่อ CPI ทั้งปีให้เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เท่านั้น ในขณะที่การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ CPI น้อยมาก เพียงแค่ 0.01% ซึ่งทำให้กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไปจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้

"กระทรวงฯจะยังไม่ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อเดิมที่ 3.3-3.8% แม้จะมีการปรับเพิ่มค่าจ้างและเงินเดือนข้าราชการแต่กระทรวงจะดำเนินมาตรการชะลอการปรับราคาสินค้าที่เป็นภาระของประชาชน โดยเฉพาะในหมวดของอาหารที่มีสัดส่วนสูงถึง 39% ซึ่งถ้าดูแลหมวดนี้ได้ก็จะไม่มีผลต่อเงินเฟ้อ" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ส่วนผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์ไว้ใน 3 กรณี กรณีแรก ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ระดับ 120-130 เหรียญ สรอ./บาร์เรล คาดว่าจะกระทบต่อ CPI ปีนี้ให้เพิ่มขึ้น 0.1% จาก 3.8% เป็น 3.9% กรณีที่สอง ถ้าราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 130 -150 เหรียญ สรอ./บาร์เรลจะกระทบ CPI ปีนี้ให้เพิ่มขึ้น 0.1-0.5% มาอยู่ที่ 3.9-4.4% และกรณีที่สาม น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 150 -200 เหรียญ สรอ./บาร์เรล จะกระทบ CPI ปีนี้ให้เพิ่มขึ้น 0.5-1.7% ซึ่งจะทำให้ CPI ปรับเพิ่มขึ้น 4.4-4.5% แต่ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าในกรณีแรกจะมีความเป็นไปได้สูงสุด ประกอบกับกระทรวงการคลังได้คาดการณ์ไว้ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีจะเฉลี่ยที่ 116 เหรียญ สรอ./บาร์เรล ซึ่งเป็นไปตามกรณีแรก

"กรณีที่หนึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด มองในแง่ผลกระทบราคาน้ำมันต่อดัชนีผู้บริโภคแล้วไม่น่าเกิน 0.1% ซึ่งทั้งปีกระทรวงยังเชื่อว่าเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 3.8% แม้ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นบ้าง"

ส่วนกรณีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่นั้นกระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อยแค่ 0.028% เนื่องจากน้ำหนักของค่าแท็กซี่ที่คำนวณในดัชนีผู้บริโภคอยู่ทีเพียง 0.23% เท่านั้น ประกอบกับต้นทุนของผู้ประกรอบการส่วนใหญ่มาจากค่าเช่ามากกว่าที่ 60% ในขณะที่ต้นทุนจากพลังงานอยู่ที่ 40%

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ