กสิกรฯคาดเงินเฟ้อQ2ชะลอตัว หลายปัจจัยหนุนH2เงินเฟ้อสูง คาดทั้งปี 3.9%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 4, 2012 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้นที่กระบวนการส่งผ่านแรงกดดันด้านต้นทุนมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภคยังคงทำได้อย่างจำกัด รวมถึงยังมีผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนหน้านั้น ทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 2/55 จะเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3.2% ชะลอตัวลงจากค่าเฉลี่ย 3.39% ในช่วงไตรมาส 1/55

แต่ทิศทางที่ผ่อนคลายของเงินเฟ้อดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ก่อนที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 55 ย่อมจะทำให้ความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อมีน้ำหนักมากขึ้นต่อการกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

ทั้งนี้ ตัวแปรที่อาจผลักดันทิศทางราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 2/2555 ซึ่งจะเป็นตัวเพิ่มแรงกดดันสะสมที่มีต่อเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ 1.ผลเชื่อมโยงต่อราคาสินค้าผู้บริโภคหลังการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน 2.ทิศทางราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ 3.สภาพอากาศที่แปรปรวน

"แม้ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสที่ 2/55 อาจชะลอลงมาที่ 3.2% แต่คาดว่าสภาวะแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพจากแรงหนุนหลายด้าน ประกอบด้วย การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ค่าไฟฟ้าเอฟที ราคาขายปลีกน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ตลอดจนสภาพอากาศที่ผิดปกติ จะถูกซึมซับผ่านการปรับขึ้นของราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคในลักษณะเดือนต่อเดือนอย่างต่อเนื่อง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ดังนั้นการติดตามดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ จึงยังเป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ก่อนที่ทิศทางเงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 55

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากหลายตัวแปรดังกล่าว อาจเริ่มส่งผ่านมาเพิ่มแรงหนุนเงินเฟ้อให้มีทิศทางเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 55 โดยคาดว่าไตรมาสที่ 3/55 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีโอกาสขยับสูงเกินกว่า 4.0% ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจเร่งตัวขึ้นเข้าใกล้ 3.0% ที่เป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อ 0.5-3.0% ของธปท. ซึ่งย่อมจะมีนัยต่อการส่งสัญญาณเชิงนโยบายการเงินในช่วงท้ายๆ ปี 55

สำหรับภาพรวมในปี 55 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงยืนตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 3.9% (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 3.5-4.5) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 3.0% (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.6-3.6) โดยมองว่าทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากภาวะอุทกภัยรอบก่อน น่าจะมีผลในการเพิ่มแรงผลักดันด้านอุปสงค์ อทิศทางเงินเฟ้อ พร้อมๆ กับแรงผลักด้านด้านอุปทานที่นำโดย 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ การปรับสูงขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และราคาพลังงาน ซึ่งจะทยอยส่งผ่านมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงที่เหลือของปี 55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ