น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 6 แผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(IMT-GT) ในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 20 เพื่อทบทวนการดำเนินการใน 6 สาขาความร่วมมือหลัก ประกอบด้วย 1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ภายในอนุภูมิภาค 2) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนภายในพื้นที่ IMT-GT และเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอก 3) การท่องเที่ยว 4) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล 5) ส่งเสริมด้านทรัพยากรมนุษย์ 6) การส่งเสริมความเติบโตทางภาคเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร
ในการประชุมฯ นายกรัฐมนตรียืนยันสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือ IMT-GT ให้มีความก้าวหน้าต่อไป เพราะเห็นว่า IMT-GT จะช่วยส่งเสริมการรวมตัวและความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคให้สำคัญยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยนำมาซึ่งการเติบโต ความมั่งคั่ง และความเข้าใจอันดีระหว่างกันของประชาชน โดยสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับท้องถิ่นยังต้องผลักดันโครงการความร่วมมือ เพื่อให้บรรลุประโยชน์ของตนเอง เช่น การพัฒนาเขตพื้นที่ชายแดนพิเศษที่นราธิวาส เพื่อเชื่อมต่อกลันตัน และนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ IMT-GT ยังเป็นการต่อยอดการรวมตัวในระดับที่กว้างขึ้น คือการสร้างประชาคมอาเซียน ทั้งนี้โครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน การค้าและการลงทุน เกษตรกรรม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมฮาลาล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรมีการวางแผนและมีเป้าหมายที่กว้างขึ้นเช่นกัน ดังนั้นไทยจึงสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาการเชื่อมโยงและการเชื่อมต่อกัน ระหว่าง IMT-GT และการเตรียมการระดับภูมิภาคอื่นๆ จากอาเซียน สู่ BIMP-EAGA สู่ GMS ซึ่งธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเชื่อมต่อดังกล่าว และด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการนี้ การมีส่วนร่วมจากท้องถิ่นและการเชื่อมต่อกับกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่นๆ จะเป็นแนวทางในการดำเนินงานจากแผนที่ตั้งไว้สู่แผนการดำเนินงานต่อไป
การเชื่อมโยงเป็นเรื่องที่สำคัญทั้งในเรื่องของ Software และ Hardware การเชื่อมโยงภายใน IMT-GT ผ่านพื้นดิน ทะเล อากาศ เป็นตัวกระตุ้นสู่การเติบโตที่มีพลวัตรในอนุภูมิภาคและส่วนหนึ่งของอาเซียน ไทยมีโครงการใหม่ๆ เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของเส้นทางมอเตอร์เวย์ หาดใหญ่-สะเดา และการก่อสร้างสะพานสองแห่งที่เชื่อมระหว่างนราธิวาสและกลันตัน นอกจากนี้ระบบซอฟท์แวร์ต่างๆก็สำคัญ เช่น ระบบ CIQ ซึ่งจะต้องมีการยกระดับการอำนวยความสะดวกต่างๆของ CIQ รวมทั้งการดำเนินงานความตกลงการขนส่งข้ามแดนด้วย โดยหวังว่ากรอบการดำเนินงานความร่วมมือ IMT-GT CIQ จะสำเร็จโดยเร็ว
ในด้านการท่องเที่ยวจะต้องส่งเสริมนักท่องเที่ยวในพื้นที่ IMT-GT ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ และการจัดทำข้อมูลการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกันในกลุ่มความร่วมมือนี้ด้วย นอกจากนี้ ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และส่งเสริมความร่วมมือโดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางอาหาร และพลังงานทางเลือก ซึ่งขณะนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนและพลังงานชีวภาพเป็นเรื่องจำเป็นต่อการพัฒนาของ IMT-GT และอาเซียน
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำครั้งที่ 6 แผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย(IMT-GT) ได้มีแถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการที่จะมุ่งมั่นร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดช่องว่างการพัฒนาภายในและระหว่างประเทศในอนุภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนพ้นจากความยากจน พร้อมชื่นชมสภาธุรกิจ(JBC) ที่ร่วมส่งเสริมโครงการธุรกิจและการลงทุน
สำหรับแผนดำเนินการระยะ 5 ปี (Implementation Blueprint ; IB) ระหว่างปี 2555-2559 นั้น เน้นโครงการเชื่อมโยงด้านคมนาคมที่มีความสำคัญเร่งด่วนทางกายภาพ ระบบสาธารณูปโภค การขนส่งทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้คน และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในอนุภูมิภาค
IMT-GT จะยังส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร โดยสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมการลงทุนของนักธุรกิจด้านอาหาร เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารสำหรับทุกคนในอนุภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังมีความริเริ่มโครงการวิจัยเกี่ยวกับศักยภาพของตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพในเอเชีย เพื่อปรับปรุงตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพในอนุภูมิภาค ทั้งนี้ได้มอบหมายรัฐมนตรี IMT-GT ติดตามความก้าวหน้าความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา IMT-GT ในการสร้างกิจกรรมร่วมกัน