กฟผ.ปฎิเสธแบกรับภาระค่า Ft งวดใหม่แทนประชาชนเหตุต้องนำเงินไปลงทุนเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 4, 2012 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ่าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้าจะปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้น โดยต้นทุนค่าก๊าซในการคำนวณค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(Ft) งวด 1 คือเดือน ม.ค.-เม.ย.55 เฉลี่ยอยู่ที่ 280 บาทต่อล้านบีทียู งวด 2 คือเดือน พ.ค.- ส.ค.55 เฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาทต่อล้านบีทียู และงวด 3 คือเดือน ก.ย.-ธ.ค.55 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 320 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นจากอัตราฐานเปรียบเทียบที่คำนวณค่าเอฟทีในปีที่แล้วที่ 260 บาทต่อล้านบีทียู ดังนั้นจึงส่งผลทำให้แนวโน้มค่าเอฟทีต้องปรับสูงขึ้นด้วยตลอดทั้งปี แต่ปรับขึ้นเป็นอัตราใดต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะเป็นผู้พิจารณา

ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า เอฟทีงวดที่ 1 กกพ.ได้มีมติตรึงค่าเอฟทีเพื่อช่วยลดภาระของประชาชนจากน้ำท่วม ส่งผลให้ กฟผ.ต้องรับภาระไปก่อน 8,000 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 2 ต้นทุนค่าก๊าซอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท ซึ่ง กฟผ.คงไม่สามารถแบกรับภาระได้อีก เนื่องจาก กฟผ.ต้องมีการลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า สายส่ง ส่วนงวดที่ 3 ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกตามราคาก๊าซที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งยังไม่รวมกรณีหากเกิดสงครามที่จะทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากฐานปัจจุบันที่คำนวณไว้ที่ระดับ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรนำเรื่องการเมืองมาปนกับเรื่องพลังงาน โดยการดูแลราคาพลังงานควรทำในระยะสั้น กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น แต่ในขณะนี้ที่ราคาพลังงานสูงขึ้นถือว่าเป็นเหตุการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งยังไม่รวมกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย การรองรับความต้องการของญี่ปุ่นที่ใช้แทนนิวเคลียร์

ส่วนในวันที่ 8-17 เม.ย.นี้ที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซมายังประเทศไทย นายสุทัศน์ กล่าวว่า ในช่วงนี้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน บริษัท ห้างร้าน ควรช่วยกันลดการใช้พลังงาน เพื่อลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ