SCB EIC ชี้แม้เงินเฟ้อเร่งตัว แต่ธปท.ยังตรึงดบ.นโยบายที่ 3% ถึงสิ้นปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 4, 2012 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ระบุว่า จากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.55 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.45% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.77% นั้น พบว่าราคาน้ำมันที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้น

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในหมวดพลังงานยังคงเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนที่แล้ว(ก.พ.)อีก 2.7% เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในเดือนมี.ค.อยู่ที่ราว 120 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5% นอกจากนี้ยังมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ราคาอาหารสำเร็จรูป(อาหารปรุงสุกบริโภคในบ้านและนอกบ้าน) เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก.พ.อีก 1.0% ซึ่งราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นนั้นส่งผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากมีน้ำหนักถึงประมาณ 1 ใน 5 ของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน

SCB EIC มองว่า ปัจจัยเสี่ยงทางด้านต้นทุนยังคงมีอยู่ต่อไป จากราคาน้ำมันดิบที่ยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกยังคงไม่ได้ข้อยุติ ประกอบกับการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้ราคาสินค้าต้องทยอยปรับขึ้นตาม

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดย SCB EIC มองว่าราคาน้ำมันน่าจะชะลอตัวลงบ้างในไตรมาส 2 เนื่องจากเป็นไตรมาสที่อุปสงค์ของน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศอย่างเช่น สหรัฐฯ และยุโรป จะปล่อยน้ำมันดิบสำรองออกสู่ตลาดมากขึ้นเพื่อลดแรงกดดันไม่ให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจนเกินไป

ดังนั้นหากไม่เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันไม่น่าจะเร่งขึ้นจากระดับปัจจุบันมากนัก EIC จึงมองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธปท.ที่ 0.5-3.0% ได้

อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตามองราคาอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูปมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างมาก โดยปัจจัยต้นทุนที่มีผลกระทบกับราคาอาหารสำเร็จรูปมีตัวอย่าง เช่น ราคาอาหารสด, ราคาก๊าซหุงต้ม, ค่าการขนส่ง และค่าแรง เป็นต้น ทำให้ยังคงมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% จนถึงสิ้นปี 55 โดยเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นเกิดจากปัจจัยต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งต่างกับเงินเฟ้อที่เกิดจากการเร่งขึ้นของอุปสงค์ที่นโยบายการเงินสามารถควบคุมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ