นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ประสานกับกระทรวงพาณิชย์และสมาคมเนื้อสัตว์ปีกในการเตรียมบริหารโควตาการส่งออกไก่สดของไทย โดยเบื้องต้นคาดว่าในปี 2555 ประเทศไทยจะสามารถส่งออกไก่สดไปยังสหภาพยุโรปได้ประมาณ 50,000 ตัน
สำหรับสถานการณ์การส่งออกสินค้าไก่ของไทยก่อนการระบาดของโรคไข้หวัดนกนั้น ในปี 2546 ไทยส่งออกเนื้อไก่ทั้งหมด 546,000 ตัน เป็นเนื้อไก่สด 389,000 ตัน เนื้อไก่แปรรูป 157,000 ตัน โดยส่งออกเนื้อไก่สดไปอียูประมาณ 98,000 ตัน คิดเป็น 25% ขณะเดียวกัน อียูได้ให้โควตาไก่หมักเกลือ นำเข้าจากประเทศไทย 92,610 ตันต่อปี ภาษีในโควตา 15.4 % นอกโควตา 1,300 ยูโร/ตัน แต่ที่ผ่านมาไทยไม่สามารถใช้สิทธิตามโควตาดังกล่าวได้ เนื่องจากอียูไม่อนุญาตนำเข้าเนื้อไก่สดจากไทย ดังนั้น หลังจากที่สหภาพยุโรปได้ประกาศให้นำเข้าสัตว์ปีกสดจากไทยแล้วคาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกประมาณ 50,000 ตัน ในปีแรก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะกรรมการยุโรปด้านห่วงโซ่อาหารและสุขภาพสัตว์ได้มีมติยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดจากประเทศไทย หลังจากที่เคยระงับการส่งออกจากประเทศไทยด้วยโรคไข้หวัดนกตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2547 ทั้งนี้ คาดว่าสหภาพยุโรปจะประกาศเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการใน EU Official Journal ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกไก่สดไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรปได้อีกครั้ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป
ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตเนื้อไก่ของไทยแล้ว ยังจะทำให้เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดส่งออกเนื้อไก่ไทยไปยังตลาดโลก และส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อของไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น เพื่อให้การส่งออกไก่สดของไทยสามารถส่งออกได้ทันตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป
"ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการผลักดันการส่งออกสัตว์ปีกสดของไทยไปยังสหภาพยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประเทศไทยมีการตรวจพบไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2547 โดยได้มีการดำเนินการมาตรการต่างๆ ในการควบคุมสถานการณ์ไข้หวัดนก และได้ประสานงานกับทางสหภาพยุโรป หรืออียู อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสินค้าสัตว์ปีกของไทย รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกและผลการดำเนินงานให้สหภาพยุโรปทราบ และได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 ถึงสหภาพยุโรปขอให้พิจารณายกเลิกการระงับนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสดจากประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยได้ปลอดสถานการณ์ไข้หวัดนกตามหลักการขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ตั้งแต่ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 รวมระยะเวลากว่า 3 ปี เศษ” นายธีระ กล่าว
ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปส่งเจ้าหน้าที่ Food and Veterinary Office (FVO) มาตรวจประเมินสภาวะการควบคุมโรคสัตว์ปีกของไทย ระหว่างวันที่ 17 — 25 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยผลการตรวจประเมิน FVO รายงานว่า กรมปศุสัตว์มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจากที่มาตรวจในปี 2552 ในระบบการควบคุมโรคสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) สำหรับการเลี้ยงสัตว์ปีกทุกระดับ การควบคุมการเคลื่อนย้าย และระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสหภาพยุโรปยกเลิกห้ามนำเข้าสัตว์ปีกสดจากไทยได้ในที่สุด