นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยถึงผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR)ว่า JCR ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ(Foreign Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A- และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Domestic Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A โดยมีแนวโน้มความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
อันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยที่มีปัจจัยสนับสนุนจากอุตสาหกรรมการส่งออก ความมีเสถียรภาพของระบบการเงินการธนาคาร ฐานะการคลังที่ดีและดุลการต่างประเทศที่แข็งแกร่ง
ขณะเดียวกัน JCR ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมของประเทศไทยที่เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดอุทกภัยขึ้นอีก
ส่วนแนวโน้มความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ถดถอยอย่างรุนแรงในปี 54 จากปัญหาอุทกภัย แต่ได้แสดงให้เห็นสัญญาณในการฟื้นตัวหลังจากการที่ปัญหาต่างๆ ได้คลี่คลายลง ซึ่งในปี 55 JCR คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหวนกลับมาเจริญเติบโตจากอุปสงค์ในการฟื้นฟูบูรณะประเทศในส่วนของสถานะทางการคลังและหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่ดี
อย่างไรก็ดี จากการที่สถานะทางการคลังและหนี้สาธารณะอาจจะถดถอยลงเนื่องจากรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการป้องกันอุทกภัย ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องเฝ้าติดตามพัฒนาการในอนาคตต่อไป ในขณะเดียวกันความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่เกิดจากการลงทุนโดยตรงสะสมของนักลงทุนต่างชาติยังคงอยู่เช่นเดียวกับสถานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศมีสูงกว่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมดเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมจะยังคงรักษาความมีเสถียรภาพไว้ได้นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 54 แต่ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่รุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจนกระทั่งปี 53 ยังคงเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกและซับซ้อนที่ประเทศไทยต้องเผชิญ JCR จึงจะจับตามองพัฒนาการทางด้านการเมืองและสังคม และความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2555 JCR คาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ประมาณ 4% อันเนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ในการฟื้นฟูบูรณะภายใต้มาตรการป้องกันอุทกภัย และขึ้นอยู่กับว่าจะไม่เกิดความเสื่อมถอยอย่างฉับพลันของเศรษฐกิจโลก พร้อมกันนี้ JCR จะยังคงเฝ้าติดตามกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย และพัฒนาการของฐานะการคลังในอนาคตต่อไป
ส่วนด้านการลงทุนจากต่างประเทศนั้น JCR เห็นว่าที่ผ่านมาถึงแม้จะมีการขาดเสถียรภาพทางการเมือง แต่ก็ไม่มีสัญญาณใดที่บ่งชี้ว่าจะมีการถอนเงินลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวออกจากประเทศไทย ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมต่อการลงทุนโดยตรงในปี 54 ก็มีเพียงเล็กน้อย และปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินการลงทุนโดยตรงใหม่ที่จะเข้ามาก็คือแผนการบริหารจัดการน้ำ ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออก และภาคการต่างประเทศของประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างมาก