นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ในปี 2558 จะทำให้ผู้ประกอบการของไทยรวมทั้งภาครัฐต้องเร่งปรับตัวและพัฒนานวัตกรรมของตัวเอง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแข่งขันได้ โดยภาครัฐจะต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่ให้ใกล้เคียงกับประเทศอื่นในอาเซียนที่ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 15-20% ในขณะที่ของไทยจัดเก็บในอัตรา 30%
ส่วนนโยบายส่งเสริมการลงทุนนั้น ควรปรับเปลี่ยนมาเป็นการให้สิทธิประโยชน์ด้านการวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ เทคโนโลยี แทนการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
นายทนง กล่าวว่า จากการหารือกับนักลงทุนญี่ปุ่นพบว่าผู้ประกอบการที่มีโรงงานใน 7 นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมยังไม่มีความมั่นใจในมาตรการป้องกันของรัฐบาล และทำให้ส่วนหนึ่งจะไปลงทุนขยายโรงงานเพิ่มในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือแทน
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ระบุว่า จากเศรษฐกิจเอเชียที่เติบโตได้ดี และการเป็นประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ประเทศไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุน เพียงแต่ไทยจะต้องหาจุดยืนให้เหมาะสม เพราะปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันด้านแรงงานราคาถูกได้แล้ว แต่ไทยยังสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมระดับไฮเทคโนโลยีได้
ดังนั้นภาครัฐ เอกชน ตลอดจนนักวิชาการจะต้องช่วยกันพัฒนานวัตกรรม และระบบการบริหารของประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้นจากระบบบนสู่ล่างให้เป็นระบบคลัสเตอร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ โดยหากไม่รีบดำเนินการภายใน 4-5 ปีข้างหน้าไทยอาจจะถดถอยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค