กบข.กระตุ้นสมาชิกออมเพิ่ม เสริมความเพียงพอให้เงินออมหลังเกษียณ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday April 7, 2012 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราส่งเงินสะสมเข้า กบข. เดือนละ 8% ของเงินเดือน(เงินสะสมของสมาชิก 3%+เงินสมทบและเงินชดเชยจากภาครัฐ 5%) ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนบำนาญประเทศต่างๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15% เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแห่งชาติประเทศสิงคโปร์ (Central Provident Fund: CPF) มีอัตราการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสูงถึง 30% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้าง (Employee Provident Fund: EPF) ประเทศมาเลเซียมีอัตราส่งเงินสะสมอยู่ที่ 23% เป็นต้น

ขณะที่วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าทำให้อายุขัยของประชากรโลกยืนยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 70-75 ปี ดังนั้นการออมเงินเพื่อการเกษียณจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มต้นทันที เพื่อให้มีเงินออมเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในช่วงที่ไม่มีรายได้ประจำ

ทั้งนี้ ผู้เกษียณจะมีรายได้เพียงพอสำหรับใช้จ่ายหรือไม่ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักคือ 1.อัตราเงินออมที่เหมาะสม 2.ระยะเวลาการออมที่เพียงพอ และ 3.อัตราผลตอบแทนการลงทุนของกองทุน ยิ่งเริ่มต้นออมเร็ว ระยะเวลาออมนานเพียงพอ บวกกับอัตราเงินออมรายเดือนที่เหมาะสม พลังของดอกเบี้ยทบต้นจะยิ่งช่วยทวีคูณเงินออมในอนาคต

น.ส.โสภาวดี กล่าวว่า จากเหตุนี้ กบข.จึงส่งเสริมและเปิดช่องทางให้สมาชิกออมเพิ่มตั้งแต่เริ่มรับราชการ โดยสามารถออมเพิ่มได้สูงสุด 12% ของเงินเดือน ยิ่งสมาชิกออมเพิ่ม พลังของดอกเบี้ยทบต้นจะช่วยเพิ่มพูนเงินออมในอนาคต เมื่อสมาชิกเกษียณก็จะมีเงินออมเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต

โดยที่ผ่านมาผลตอบแทนการลงทุนของ กบข.เฉลี่ยตั้งแต่จัดตั้งกองทุน(ปี 40-54) อยู่ที่ประมาณ 7% สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ปัจจุบัน ณ เดือนมี.ค.55 มีสมาชิก กบข.ออมเพิ่มจำนวน 13,804 ราย โดยมากกว่าครึ่งสมาชิกเลือกออมเพิ่มสูงสุดที่ 12% ของเงินเดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ