TOP คาดราคาน้ำมันสัปดาห์นี้มีแรงหนุนจากการคว่ำบาตรอิหร่านส่งออกน้ำมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 10, 2012 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทยออยล์(TOP) คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในสัปดาห์นี้(9-13 เม.ย.) จะยังคงเคลื่อนไหวที่กรอบเดิมที่ 120-127 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่วนเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 100-108 เหรียญฯ/บาร์เรล โดยราคาน่าจะยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะอุปทานตึงตัวจากมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านจากชาติตะวันตก ปัญหาการผลิตน้ำมันดิบในบริเวณทะเลเหนือและความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาคการเงินและเศรษฐกิจของยุโรป รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรป

ในสัปดาห์นี้ติดตามการเปิดฉากเจรจาในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านระหว่างชาติมหาอำนาจทั้ง 6 และอิหร่านในวันที่ 13 เม.ย.ที่ตุรกี หากการเจรจามีความคืบหน้าที่ดีก็อาจจะช่วยลดแรงกดดันของตลาดลงได้ อย่างไรก็ตาม อิหร่านยังคงไม่มีทีท่าว่าจะล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์ แม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านได้ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้(ผู้ซื้อหลักของเอเชีย) รวมกันลดลงไปถึง 22% ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มาอยู่ที่ประมาณ 900,000 บาร์เรล/วัน

นอกจากนี้ ติดตามการตัดสินใจของสหรัฐฯ ต่อมาตรการการปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นถึง 16 ล้านบาร์เรลในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะเสนอมาตรการกระตุ้น QE3 ออกมาใหม่ หลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ออกมาเป็นที่น่าผิดหวัง โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 120,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. น้อยกว่าคาดที่ 203,000 ตำแหน่ง และน้อยกว่าเดือน ม.ค.และก.พ.ที่ระดับเกินกว่า 200,000 ตำแหน่ง

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรป และอัตราเงินเฟ้อ จีดีพี การผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกของจีน รวมทั้งรายงานสภาวะเศรษฐกิจ (Beige book) และความรู้สึกของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตลอดจนประมาณการณ์ความต้องการใช้น้ำมันและอุปทานน้ำมันดิบโลกในปีนี้โดยสามสถาบันน้ำมันหลักของโลก ได้แก่ สำนักงานพลังงานสากล สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ และโอเปก

ปัจจัยที่น่าจับตามองในสัปดาห์นี้ คือตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ, การเจรจาระหว่าง 6 ประเทศแกนนำหลักของโลกและอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน, สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ, การพิจารณาปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์โดยสหรัฐฯ อังกฤษและฝรั่งเศส, การประชุมของกลุ่ม จี 20 และการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ว่าจะมีการเพิ่มวงเงินเข้าในกองทุนช่วยเหลือหนี้ยุโรปหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ