ดุสิตโพลเผยคนกรุงฯได้ปรับค่าจ้างแต่หนี้ยังเพิ่ม ยอมลดรายจ่ายฟุ่มเฟือย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 11, 2012 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับค่าจ้าง/เงินเดือนเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่นำเงินค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มขึ้นไปใช้จ่ายในเรื่องอาหารการกิน และของใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุดถึง 45.38% รองลงมา 22.69% คือ การผ่อนชำระต่างๆ เช่น บ้าน, รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า อันดับสาม 10.08% ค่าเทอม ค่าเล่าเรียน อันดับสี่ 8.40% การผ่อนชำระหนี้นอกระบบ, ค่าแชร์ และอันดับห้า 7.56% ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง, ค่าน้ำมัน

สำหรับพฤติกรรมการออมของคนที่ได้รับเงินเดือน/ค่าจ้างเพิ่ม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 44.56% ระบุว่าไม่ได้เก็บออม เนื่องจากเพราะยังมีภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบที่ยังเคลียร์ไม่ได้, รายได้ไม่พอกับรายจ่าย รองลงมา 36.90% ระบุว่าเก็บออมน้อยลง เพราะยังมีภาระในเรื่องที่จำเป็นต้องใช้จ่ายอยู่มาก เช่น ค่าเล่าเรียน การผ่อนชำระต่างๆ และอันดับสาม 18.45% ระบุว่าเก็บออมมากขึ้น เพราะมีเงินเหลือออมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย, จำเป็นต้องเก็บเงินไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น

ส่วนพฤติกรรมการกู้หนี้ยืมสินของคนที่ได้รับเงินเดือน/ค่าจ้างเพิ่ม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 37.72% ยังกู้หนี้ยืมสินมากขึ้น เพราะเงินไม่พอใช้ และยังมีความจำเป็นต้องกู้ยืมมากขึ้นเพื่อนำมาใช้ในเรื่องจำเป็น เช่น ซื้อบ้าน, ซื้อรถ อันดับสอง ประชาชน 35.33% ระบุว่าไม่ได้กู้หนี้ยืมสินเลย เพราะไม่ชอบเป็นหนี้ และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ยึดหลักพอเพียง และอันดับสาม ประชาชน 26.95% ระบุว่า กู้หนี้ยืมสินน้อยลง เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินใช้หนี้ และนำเงินเก็บบางส่วนออกมาใช้

ส่วนพฤติกรรมการซื้อของกินของใช้จำเป็นนั้น พบว่าส่วนใหญ่ 70.31% ระบุว่ายังใช้จ่ายเหมือนเดิม เพราะยังคงต้องใช้จ่ายในเรื่องของกินของใช้ที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ขณะที่อีก 29.69% ระบุว่า ลดลง เพราะต้องประหยัด และรู้จักวางแผนการใช้จ่าย ส่วนการซื้อของใช้ฟุ่มเฟือย และค่าใช้จ่ายเพื่อการบันเทิงนั้น พบว่า ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายลดลง เพราะมองว่ามีเรื่องจำเป็นอื่นที่จะต้องใช้จ่ายมากกว่า

ทั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ได้รับเงินเดือน/ค่าจ้างเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 จำนวน 1,206 คน ระหว่างวันที่ 5-10 เมษายน 2555


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ