น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เนื่องจากที่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) กับ บมจ.ทีโอที (TOT) จะไม่มีรายได้หลังรายได้จากสัมปทานเอกชนจะหมดอายุและต้องนำรายได้จากสัญญาสัมปทานส่งให้กระทรวงการคลังทั้งหมด ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กำกับกิจการประกอบวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ที่ได้ทำร่วมกับบริษัทเอกชน อ ทิ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่แบ่งรายได้รวมกันให้กับ กสทฯ-ทีโอที ปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็เท่ากับว่า รายได้จากส่วนแบ่งสัมปทานตรงนี้ก็จะหายไปจาก ทีโอที-กสทฯด้วย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีทีในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานทั้ง 2 องค์กร จึงได้พยายามหาวิธีและช่องทางในการสร้างรายได้เพื่อให้ทั้ง 2 องค์กรมีรายได้เข้ามาเพื่อชดเชยรายได้ที่จะหายไปถึงจะไม่มากเท่ากับส่วนแบ่งสัมปทานก็ตาม โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจัดทำโครงการตาอัจฉริยะ ถือเป็นการบูรณาการโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ ในทุกๆ ช่วงเทศกาล โดยล่าสุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 8-18 เมษายนนี้ จะมีการนำกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) จำนวน 9 ตัว ไปติดตั้งตามบ้านของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ และเช อมต่อสัญญาณเข้ากับเครือข่าย 3จี ของ กสทฯ ให้เจ้าของบ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจสอบภาพเพื่อรักษาความปลอดภัยได้ 24 ชั่วโมง โดยจะนำร่องพื้นที่สน.โชคชัย
นอกจากนี้ จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้สำรวจพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีจุดเสี่ยงสูงอยู่ที่ประมาณ 4,000 จุด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและป้องการการเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ความร่วมมือในโครงการนี้จะถือเป็นการนำร่องเพื่อใช้งานเครือข่าย 3จี ของกสทฯ ทั้งนี้ เบื้องต้นจะมีราคาที่ไม่แพง อย่างไรก็ตาม หลังจบโครงการดังกล่าวแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องประเมินคุณภาพการให้บริการ เพื่อพิจารณาว่าจะร่วมมือเพื่อให้บริการให้ครอบคลุม 4,000 จุดเสี่ยงต่อไปหรือไม่
สำหรับเครือข่าย 3จี ของกสทฯ ที่ให้บริการชื่อ “มาย" เป็นการให้บริการผ่านโครงข่ายของบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ระหว่าง กสทฯ กับ กลุ่ม TRUE
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของ ทีโอที นั้น ตนจะดำเนินการเพื่อของบประมาณจำนวน 8,500 ล้านบาท เพื่อขยายการให้บริการไวไฟและเป็นการรองรับการใช้งานตามโครงการแท็บเล็ต ป.1 ของ ทีโอที ด้วย ตามนโยบายโครงการสมาร์ทไทยแลนด์ ทั้งนี้ ตนได้ให้ ทีโอที ทำแผนการขยายพื้นที่การให้บริการไวไฟของ ทีโอทีทั้งหมดมาให้ เพื่อที่จะดูว่าจะสามารถให้บริการสอดคล้องกับโครงการแท็บเล็ตป.1 ของรัฐบาลได้อย่างไรบ้าง
"ช่องทางไหนจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับ กสทฯ-ทีโอที ก็จะต้องดำเนินการ และทุกโครงการที่ดำเนินการก็จะต้องไม่มีการลงทุนที่ซ้ำซอนกัน ซึ่งขณะนี้ตนก็ให้ทั้ง กสทฯ-ทีโอที ได้ตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโครงข่ายมือถือและเสาสถานีฐานทั่วประเทศที่มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้มีการใช้งานร่วมกันให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว